การพัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ในเขตภาคเหนือ
#1
การพัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ในเขตภาคเหนือ
วิทยา อภัย, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง, เกรียงศักดิ์ นักผูก, สมเพชร เจริญสุข, สนอง อมฤกษ์, ปรีชา ชมเชียงคำ และชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่

          ลิ้นจี่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่เก็บรักษาได้เพียง 2 - 3 วัน เนื่องจากสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่าเสีย เทคโนโลยีการยืดอายุลิ้นจี่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) การลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็นช่วยยืดอายุได้ ~10 วันที่อุณหภูมิ 0 - 5 °C แต่ปัญหาที่พบคือ การปนเปื้อนในน้ำเย็นจากจุลินทรีย์ ดังนั้นวิธีการลดการปนเปื้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และ 2) การรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สามารถยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างส่งออกได้นาน 30 - 40 วัน แต่พบปัญหา คือ การกำหนดมาตรฐานการตกค้างของ SO2 ในเนื้อผลต่ำของสหภาพยุโรป (EU) เพียง 10 ppm และมาตรฐานโคเดกซ์กำหนดค่าการตกค้างทั้งผลเพียง 50 ppm และมีบางประเทศไม่ยอมรับผลไม้ที่ผ่านการรมก๊าซ SO2 ทำให้เป็นข้อจำกัดในการส่งออกลิ้นจี่ของไทย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ด าเนินการวิจัยและพัฒนาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ในเขตภาคเหนือระหว่างปี 2557 - 2558 โดยวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ทดแทนการรม SO2 เช่น การแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 3% นาน 5 นาที พบว่าการตกค้างของ SO2 ในเนื้อต่ำกว่า 10 ppm และต่ำกว่าค่าการตกค้างทั้งผล 50 ppm เมื่อเปรียบเทียบกับการรม SO2 ปกติ การวิจัยหาเทคโนโลยีทดแทนที่ไม่มีองค์ประกอบของสารประกอบ SO2 กรณีบางประเทศไม่ยอมรับ พบว่าการแช่ผลในกรดไฮโดรคลอริก 5% นาน 5 นาทีมีประสิทธิภาพสูงสุด รองลงมา คือ แช่คลอรีนไดออกไซด์ 0.6% นาน 5 นาที ทำให้เก็บรักษาลำไยที่ 2 - 5 °C และความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 90% ได้นาน 28 วัน มีการตกค้างต่ำและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนเทคโนโลยีการลดการปนเปื้อนในน้ำเย็นสำหรับลดอุณหภูมิผลลิ้นจี่นั้นพบว่า การผสมคลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) 300 ppm ช่วยลดการปนเปื้อนได้ คณะวิจัยจึงได้ทดสอบพัฒนาเครื่องต้นแบบสารทดแทน คือ การแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 3% นาน 5 นาที ที่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และเทคโนโลยีการผสมคลอรีนไดออกไซด์ 300 ppm ลดการปนเปื้อนในน้ำเย็นสำหรับลดอุณหภูมิผลลิ้นจี่ทดแทนแรงงานคนที่มีขีดความสามารถ 10 ตะกร้าพลาสติกต่อ 5 นาที ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนานี้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งออกลิ้นจี่ได้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   90_2558.pdf (ขนาด: 1.4 MB / ดาวน์โหลด: 912)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม