เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดแมงลักปลอดสารแอฟลาทอกซินเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ
#1
เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดแมงลักปลอดสารแอฟลาทอกซินเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ
อมรา ชินภูติ, อารีรัตน์ พระเพชร, ศุภรา อัคคะสาระกุล, อรณิชชา สุวรรณโฉม, สมเพชร พรมเมืองดี และไพศาล รัตนเสถียร
สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          เมล็ดแมงลัก (Hairy Basil Seed) เป็นผลิตผลเกษตรที่คนไทยนิยมบริโภคมาเป็นเวลานานเพราะเมล็ดแมงลักมีคุณสมบัติเป็นทั้งอาหารและยา นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าเป็นอาหารเสริมด้วย ต่อมาทางประเทศญี่ปุ่นได้ตรวจพบว่าเมล็ดแมงลักที่นำเข้าจากประเทศไทยมีการปนเปื้อนสาร aflatoxin ในปริมาณเกินมาตรฐานที่กำหนด (10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว 5 กรรมวิธี เป็นวิธีของเกษตรกร 2 วิธี และวิธีที่แนะนำ 3 วิธี ผลการทดลองพบว่าวิธีแนะนำที่ 2 การเก็บเกี่ยวช่อดอกวางบนตอ 1 วัน และมัดฟ่อนช่อดอกนำมาวางบนผ้าพลาสติกในแปลงโดยให้ช่อดอกตั้งขึ้น เป็นวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ให้ผลดีที่สุด เพราะมีการปนเปื้อนของเชื้อรา Aspergillus flavus และปริมาณสาร aflatoxin ต่ำที่สุด ในการเก็บรักษาเมล็ดหลังการนวดควรตากเมล็ดอย่างน้อย 1 แดดจะทำให้ปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อราและสาร aflatoxin ลดลง และเปอร์เซ็นต์ความชื้นเมล็ดลดลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษาเมล็ดนาน 60 วัน เมล็ดแมงลักจากกรรมวิธีแนะนำที่ 2 ยังคงมีปริมาณสาร aflatoxin ต่ำกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ทั้งเมล็ดที่ไม่มีการตากแดด และเมล็ดที่ตากแดด ในการบรรจุเมล็ดแมงลักเพื่อเก็บรักษาได้ทดสอบถุงบรรจุ 5 ชนิด ผลการทดลองพบว่า ถ้าต้องการเก็บเมล็ดแมงลักระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน สามารถเก็บในถุง PE ได้ แต่ถ้าต้องการเก็บระยะเวลานานถึง 90 วัน ควรเก็บในถุงผ้าดิบหรือถุงปุ๋ย และการทดลองบรรจุภัณฑ์ 3 ชนิด สำหรับบรรจุเมล็ดแมงลักขนาด 1 กิโลกรัม สำหรับการส่งออกโดยบรรจุแบบธรรมดาและแบบสุญญากาศ พบว่า ถุง Laminate บรรจุแบบสุญญากาศจะช่วยทำให้ปริมาณสาร aflatoxin ลดลงถึง 63.88 เปอร์เซ็นต์ และในการส่งออกไปต่างประเทศการส่งออกทางอากาศจะพบปัญหาการปนเปื้อนสาร aflatoxin น้อยกว่า การส่งออกทางเรือซึ่งใช้เวลานาน และตู้คอนเทนเนอร์มีอุณหภูมิสูง หลังจากทราบถึงสาเหตุการเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราและสาร aflatoxin และได้ทำการทดลองเพื่อแก้ปัญหาได้ผลเรียบร้อยแล้ว ได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดแมงลักคุณภาพปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อรา และสาร aflatoxin ให้กับเกษตรผู้ปลูก พ่อค้าท้องถิ่นเกษตรอำเภอ ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกคนยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเกษตรกรผู้ปลูกแมงลักได้นำไปปฏิบัติในฤดูปลูกต่อมา


ไฟล์แนบ
.pdf   646_2551.pdf (ขนาด: 677.65 KB / ดาวน์โหลด: 574)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม