แอฟลาทอกซิน...ภัยร้าย แก้ไขได้ด้วยชุดตรวจสอบ DOA
#1
แอฟลาทอกซิน...ภัยร้าย แก้ไขได้ด้วยชุดตรวจสอบ DOA
กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร (Food safety) ที่บริโภคมากขึ้น เพราะต้องการมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง  มีอายุยืนยาว  ทำให้เกิดกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารปลอดภัย สารแอฟลาทอกซิน จัดเป็นอันตรายทางด้านเคมีของอาหาร (Food hazards) เช่นเดียวกับสารตกค้างจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  แต่ที่มาของการปนเปื้อนสารอันตรายเหล่านี้จะแตกต่างกัน สารตกค้างจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกิดการกระทำของมนุษย์ซึ่งสามารถหยุดการกระทำได้ แต่สารแอฟลาทอกซินเป็นสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งไม่สามารถไปสั่งให้หยุดเกิดการปนเปื้อนในอาหารได้  ดังนั้นต้องมีการควบคุมและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

          แอฟลาทอกซิน (Aflatoxin)  เป็นสารพิษจำพวกทุติยภูมิที่สร้างโดยเชื้อรากลุ่ม Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ทั้งในดิน เศษซากพืช อากาศ และในโรงเก็บผลผลิต เชื้อราที่สร้างสารแอฟลาทอกซินที่สำคัญ ได้แก่ Aspergillus flavus และ A. parasiticus  สารแอฟลาทอกซินเป็นสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงและถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 ทั้งในคนและในสัตว์  การปนเปื้อนของเชื้อราที่สร้างสารแอฟลาทอกซิน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลิตผลเกษตร ระหว่างการเก็บรักษา และการขนส่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อราและการสร้างสารพิษเป็นอย่างมาก ผลิตผลเกษตรของประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะพบการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งชนิดนี้  แอฟลาทอกซิน นอกจากจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ และอนามัยของประชาชนผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังเป็นปัญหาทั้งในและระหว่างประเทศเพราะถูกนำมาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าอีกด้วย เนื่องจากสารแอฟลาทอกซินเป็นสารที่มีขนาดโมเลกุลเล็กมาก ปราศจากสี กลิ่น และรส การทราบว่าผลิตผลเกษตรหรืออาหารนั้นมีสารพิษปนเปื้อนอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจสอบเท่านั้น โดยทั่วไปเทคนิคการตรวจสอบแอฟลาทอกซินจะเป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical method) ที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง และสารเคมีที่เป็นอันตรายจำนวนมาก  ราคาต้นทุนในการวิเคราะห์ต่อตัวอย่างสูง และใช้เวลานานในการตรวจวิเคราะห์  ทำให้มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจำนวนน้อย ผลิตผลเกษตร และอาหารจึงมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซินสูงขึ้นด้วย และการตรวจแบบเดิมที่ล่าช้าทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ หรือการตัดสินใจในการส่งออกสินค้า หรือการนำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์

          นักวิจัยในหลายประเทศได้พยายามพัฒนาวิธีการตรวจสอบแอฟลาทอกซิน โดยอาศัยหลักการทางเซรุ่มวิทยา (Immunological Assay)  ซึ่งเป็นวิธีการที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจงระหว่างแอนติเจน (antigen) ซึ่งในกรณีนี้คือ แอฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนในผลผลิต และแอนติบอดี (antibody)  ที่เฉพาะเจาะจงกับสารพิษ เทคนิคทางเซรุ่มวิทยาที่นิยมใช้ กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ วิธี Enzyme-Linked Immunosorbent Assay (ELISA) เพราะเป็นวิธีการตรวจสอบที่ปลอดภัย  สะดวกรวดเร็ว  ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูง  สามารถตรวจสอบได้หลายตัวอย่างพร้อมๆ กัน สำหรับในประเทศไทยการวิเคราะห์สารแอฟลาทอกซินเท่าที่ผ่านมาจะใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเคมี  ส่วนการตรวจสอบโดยวิธีทาง Immunoassay มักจะใช้ชุดตรวจสอบสำเร็จรูป (Test Kit) ที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาก ทำให้ต้นทุนการวิเคราะห์ตัวอย่างสูงมากเช่นกัน  ส่งผลให้มีการนำไปใช้ไม่กว้างขวาง และไม่สามารถแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งนี้ในผลิตผลเกษตรได้

          กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค และปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรจึงสนับสนุนให้นักวิจัยคิดค้นและพัฒนา ชุดตรวจสอบสารแอฟลาทอกซิน (ELISA test kit) ขึ้นใช้เองภายในประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิต  ผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจการส่งออกผลิตผล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกด้วย ลดการนำเข้าชุดตรวจสอบจากต่างประเทศ และลดต้นทุนในการวิเคราะห์แอฟลาทอกซิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ความปลอดภัยแก่ผู้วิเคราะห์ และช่วยลดมลพิษในสภาพแวดล้อม โดยนักวิจัยได้นำเทคนิค ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay) มาพัฒนาใช้ในการตรวจสอบสารแอฟลาทอกซินในผลิตผลเกษตร โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาการผลิตแอนติซีรัม นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถผลิตแอนติซีรัมต่อ AFB1 ขึ้นใช้เองในประเทศ และพัฒนาวิธี ELISA แบบการแข่งขันโดยอ้อม (Indirect competitive ELISA)  ในการตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาในการวิเคราะห์ประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที  และต้องใช้สารที่นำเข้า 2 ชนิด คือ Aflatoxin-BSA และ Goat-anti rabbit IgG –HRP conjugate เพื่อให้การนำไปใช้บริการสะดวก รวดเร็ว และประหยัดกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการบริการขึ้นมาใหม่


ไฟล์แนบ
.pdf   29_2558.pdf (ขนาด: 138.31 KB / ดาวน์โหลด: 2,654)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม