การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์
#1
การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์
นลินี ศิวากรณ์, พจนา ตระกูลสุขรัตน์, เพลินพิศ สงสังข์ และศิริพร วรกุลดำรงชัย
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          โรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนนับเป็นปัญหาที่สำคัญต่อการปลูกทุเรียนมากในจังหวัดจันทบุรีโดยพบทุเรียนเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าระบาดรุนแรงบริเวณโคนต้นเหนือดินและกระจายเป็นหย่อมๆ บนลำต้นส่วนที่อยู่สูงจากดินถึงยอด ลักษณะอาการเป็นรอยช้ำฉ่ำน้ำ เมื่อลอกผิวเปลือกจะพบแผลฉ่ำน้ำเป็นลายริ้วๆ มีสีน้ำตาลเป็นทางตามเนื้อไม้ ต้นที่เป็นโรคจะให้ผลผลิตน้อย ใบร่วงและยืนต้นตายได้ จากการแยกเชื้อสาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนพบว่ามีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora Butler(1919) เชื้อรานี้สามารถเจริญเติบโตได้บนอาหาร PDA เส้นใยมีสีขาว ไม่มีผนังกั้น sporangium มีลักษณะรูปลูกแพร์หรือรูปไข่ขนาด 20.24-35.42 x 45.54-70.84 μm ( 29.18 X 52.62 μm ) โดยมีอัตราส่วนระหว่างความยาวต่อความกว้างของ sporangium (a long-breadth ratio) เป็น 1.80 ภายใน sporangium มี zoospore จำนวนมากและจะถูกปล่อยออกมาทางปากเปิดด้านบน (papilla) เชื้อนี้สร้าง chlamydospore รูปร่างกลม มีผนังหนาขนาด 45.54 – 60.72 μm (50.43 μm) เชื้อที่แยกได้ทำให้ใบทุเรียนที่ทำแผลวางเชื้อเป็นโรคโดยมีอาการช้ำฉ่ำน้ำภายใน 4 วัน จากการทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่แยกได้จำนวน 103 ไอโซเลท พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จำนวน 5 ไอโซเลท ที่มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อราสาเหตุ P. palmivora ได้แก่ ไอโซเลท 5908, 5912, 5827, 5832 และ 5837 สร้างวงใสกว้างขนาดตั้งแต่ 10.0 มม. รองลงมาได้แก่ ไอโซเลท 5907, 5932, 5937, 5807 และ 5829 สร้างวงใสกว้างขนาดตั้งแต่ 9 มม. และได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์จำนวน 34 ไอโซเลทต่อเชื้อรา P. palmivora ด้วยวิธีการ baiting โดยใส่เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จำนวน 3 ครั้ง ลงไปในดินบ่มเชื้อ (infested soill) พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถลดและกำจัดปริมาณ sporangium ในดินบ่มเชื้อได้หมดโดยไม่พบ sporangium ในดินบ่มเชื้อเลยมีจำนวน 8 ไอโซเลท ได้แก่ ไอโซเลท 5607A, 5807-1, 5808-1, 5809-1, 5907, 5908, 5923 และ 5932 โดยให้เปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตอยู่รอดของเชื้อราสาเหตุโรคเท่ากับ 0% รองลงมาได้แก่ 5805 และ 5806 มีเปอร์เซ็นต์ความอยู่รอดของเชื้อราสาเหตุโรคคือ 6.25% ในขณะที่กรรมวิธีเปรียบเทียบ (Control) มีเปอร์เซ็นต์เชื้อราสาเหตุโรคในปริมาณสูงเท่ากับ 92.50% ต่อมาได้ทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์อีกครั้งจำนวน 30 ไอโซเลทต่อเชื้อรา P. palmivora ด้วยวิธีการ baiting พบว่าเชื้อจุลินทรีย์ไอโซเลท 5102 สามารถลดและกำจัดปริมาณ sporangium ในดินบ่มเชื้อได้ดีที่สุดโดยมีปริมาณ sporangium ที่มีชีวิตอยู่ในดินน้อยที่สุดเป็น 28.75% อันดับที่ 2 รองลงมาได้แก่ ไอโซเลท 5808-1 และ 5832 มีปริมาณ sporangium ที่มีชีวิตเหลืออยู่ในดิน 31.25% อันดับที่ 3 รองลงมาได้แก่ ไอโซเลท 5809-1, 5831, 5913 และ 5102 มีปริมาณ sporangium ที่มีชีวิตเหลืออยู่ในดิน 33.75% โดยไอโซเลท5102, 5808-1 และ 5809-1 เป็นกรรมวิธีที่ทำการทดลองซ้ำเพื่อยืนยันผลของไอโซเลทนี้ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกันโดยให้ประสิทธิภาพดีในการลดปริมาณ sporangium ที่มีชีวิตในดิน ส่วนกรรมวิธีเปรียบเทียบมีปริมาณ sporangium ที่มีชีวิตเหลืออยู่ในดิน 98.75% และจากการทดสอบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพดีจำนวน 9 ไอโซเลท ได้แก่ ไอโซเลท 5102, 5607A, 5807-1, 5907, 5908, 5923, 5932, 5808-1 และ 5809-1 ในการก่อให้เกิดโรคบนใบทุเรียน พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคกับทุเรียนมีจำนวน 3 ไอโซเลท ได้แก่ ไอโซเลท 5102, 5808-1 และ 5809-1 ส่วนเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จำนวน 6 ไอโซเลท ได้แก่ ไอโซเลท 5607A, 5807-1, 5907, 5908, 5923 และ 5932 ทำให้เกิดโรคบนใบทุเรียนโดยแสดงอาการวงสีเหลืองรอบบริเวณที่ทำแผล ดังนั้น เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งและกำจัดเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนโดยไม่ทำให้ทุเรียนเกิดโรค ได้แก่ ไอโซเลท 5102, 5808-1 และ 5809-1 ซึ่งจากการนำเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ทั้ง 3 ไอโซเลท ไปจำแนกชนิดด้วยวิธี 16S rDNA พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ไอโซเลท 5102 เป็นเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis strainWD20 ไอโซเลท 5808-1 และ 5809-1 เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันทั้งสองไอโซเลท คือ Bacillus subtilis strain CMG M8 จากการทดลองเหล่านี้ทำให้ได้ชนิดและสายพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจงของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยในการนำไปขยายผลเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1778_2553.pdf (ขนาด: 137.51 KB / ดาวน์โหลด: 3,538)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 6 ผู้เยี่ยมชม