วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลส้มโอขาวน้ำผึ้ง
#1
วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งเพื่อการส่งออก
อุดร อุณหวุฒิ, สลักจิต พานคำ, ชัยณรัตน์ สนศิริ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, จารุวรรณ จันทรา และรัชฎา อินทรกำแหง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีววิทยา ลักษณะประจำพันธุ์ และสภาพพื้นที่ปลูกของส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการทดลองพบว่า ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus maxima Merr. วงศ์ Rutaceae ผลค่อนข้างใหญ่ ลักษณะรูปทรงกลมสูง เปลือกหนา ผิวสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันห่าง และใหญ่ น้ำหนักผลประมาณ 700 - 2,000 กรัม เส้นรอบวงประมาณ 17 - 24 นิ้ว และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว การปลูกส้มโอกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี เชียงราย เลย ชัยนาท ชุมพร และนครศรีธรรมราช จากการเลี้ยงเพิ่มปริมาณแมลงวันผลไม้ Oriental Fruit Fly, Bactrocera dorsalis (Hendel) จำนวนมากด้วยอาหารเทียมในห้องปฏิบัติการของกลุ่มวิจัยการกักกันพืชที่ควบคุมคุณภาพของแมลงเพื่อใช้ในการทดลองพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณไข่และหนอนของแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว ในห้องปฏิบัติการ ศึกษาการเตรียมตู้อบไอน้ำเพื่อใช้ในการทดลองโดยการปรับแท่งวัดอุณหภูมิ (sensor calibration) ที่ใช้ในตู้อบไอน้ำเทียบกับเทอร์โมมิเตอร์มาตรฐาน (standard thermometer) ในอ่างน้ำร้อน (water bath) ที่ตั้งค่าอุณหภูมิของน้ำไว้ที่ 46 องศาเซลเซียส และค่าความชื้นสัมพัทธ์ภายในตู้อบไอน้ำที่ 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่าแท่งวัดอุณหภูมิที่ใช้ในการทดลองทั้งหมดสามารถคงอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามที่กำหนด โดยการอ่านค่าจากเครื่องบันทึกอุณหภูมิและความชื้นทุก ๆ 5 นาที เป็นเวลานาน 30 นาที ของตู้อบไอน้ำ ศึกษาประสิทธิภาพเบื้องต้นของวิธีการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment, VHT) กับวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (Modified Vapor Heat Treatment, MVHT) ในการอบส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งพบว่า วิธีการอบไอน้ำแบบ (MVHT) จะใช้เวลาในการอบผลส้มโอนานกว่าวิธีการอบไอน้ำแบบ (VHT) แต่คุณภาพสีผิวของเปลือก และเนื้อภายในของส้มโอหลังผ่านความร้อนด้วยวิธีดังกล่าวพบว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงซึ่งแตกต่างจากส้มโอที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบ (VHT) พบว่า คุณภาพสีผิวของเปลือกส้มโอเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเนื้อส้มโอมีรสชาติขมอันเนื่องมาจากต่อมน้ำมันที่ผิวเปลือกซึมผ่านเข้าไปภายในเนื้อส้มโอ (การทดลองจำนวน 2 ซ้ำ) ศึกษาประสิทธิภาพเบื้องต้นของวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (MVHT) ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ในระยะหนอนวัยที่ 1 ในผลส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองดีพบว่า การอบส้มโอทั้งสองพันธุ์ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 50 นาที สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ในระยะหนอนวัยที่ 1 ได้ (การทดลองจำนวน 4 ซ้ำ)


ไฟล์แนบ
.pdf   1651_2553.pdf (ขนาด: 493.41 KB / ดาวน์โหลด: 1,298)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม