12-23-2015, 02:25 PM
การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออก ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ครบวงจร
อุดมลักษณ์ อ่นจิตต์วรรธนะ, จิตตานันท์ สรวยเอี่ยม, ผกาสินี คล้ายมาลา, ลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, สุภาภรณ์ บ้งพรม, ไกรสีห์ ชูดี, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ และอุทัย เซ็นต์ภักดี
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษตร, สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา และกลุ่มประสานการตรวจรับรองมาตรฐาน สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
อุดมลักษณ์ อ่นจิตต์วรรธนะ, จิตตานันท์ สรวยเอี่ยม, ผกาสินี คล้ายมาลา, ลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, สุภาภรณ์ บ้งพรม, ไกรสีห์ ชูดี, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ และอุทัย เซ็นต์ภักดี
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษตร, สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา และกลุ่มประสานการตรวจรับรองมาตรฐาน สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
จากประเด็นปัญหาตรวจพบสารพิษตกค้างของสารไซเปอร์เมทริน และคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออกมาตั้งแต่ปี 2547-2552 โดยตรวจพบมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของทุกปี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษทางการเกษตร และหน่วยงานต่างๆ นอกกรมวิชาการเกษตร เริ่มตั้งแต่การตรวจเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ของสารพิษทั้ง 2 ชนิดในผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดพบว่า ในปี 2552-2553 ผลิตภัณฑ์ไซเปอร์เมทรินสูตร 10%, 15% 25% และ 35% w/v EC ตรวจพบสารออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน 69% และผลิตภัณฑ์คลอไพริฟอสสูตร 20%, 25% 40% w/v EC ตรวจพบสารออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน 49% ซึ่งสารวัตรเกษตรควรติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์หลังการขึ้นทะเบียนด้วย
ในการสำรวจการใช้สารพิษของเกษตรกรในการปลูกผักและผลไม้ ทั้งในแปลงผักส่งออกและบริโภคภายในประเทศของทุกภาคในประเทศไทย (547 ราย) พบว่าเกษตรกรของทุกภาคเป็นชายมากกว่าหญิง และมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป การฉีดพ่นสารเคมีภาคกลางและภาคเหนือ ทำการฉีดพ่นสารเคมีมากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นเหมือนกันทุกภาคคือ อันดับ 1 ที่เกษตรกรนิยมใช้คือ ไซเปอร์เมทริน และรองลงมาได้แก่ คลอไพริฟอส ส่วนสารธรรมชาติที่เกษตรกรใช้สลับกับการใช้สารเคมี ได้แก่ สะเดา และน้ำหมักปลา หอย ผัก และผลไม้ ส่วนการฉีดพ่นสารเคมี เกษตกรทุกภาคนิยมฉีดพ่น 4-7 วัน/ครั้ง อัตราที่เกษตรกรทุกภาคใช้ เกษตรกรมากกว่า 80% ใช้ตามที่ระบุบนฉลาก การเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรส่วนใหญ่ของทุกภาคเก็บหลังฉีดพ่นครั้งสุดท้าย 4-7 วัน
จากการสำรวจถั่วฝักยาวในแหล่งปลูกและแหล่งจำหน่ายทั้งหมด 104 ตัวอย่าง ใน 15 จังหวัด ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินตกค้าง 0.01-1.313 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบเกิน MRL (Maximum residue limits) 5 ตัวอย่าง (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทริน ในถั่วฝักยาว 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ระยะเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของไซเปอร์เมทรินในถั่วฝักยาวคือ 7 วัน และตรวจพบสารคลอไพริฟอสตกค้าง 0.03-0.81 มิลลิกรัม/กิดลกรัม) และระยะเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของคลอไพริฟอสในถั่วฝักยาวคือ 15 วัน
ในการสำรวจลิ้นจี่ในแปลงปลูกและแหล่งจำหน่ายทั้งหมด 40 ตัวอย่าง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินตกค้าง 16 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.01-0.98 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตรวจพบสารคลอไพริฟอส 19 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.01-0.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 14-27 วัน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของคลอไพริฟอสในลิ้นจี่ 28-34 วัน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เกษตรกรควรใช้สารพิษตามที่ฉลากแนะนำเท่านั้น และใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ก่อนติดผล และช่วงดอกบาน เป็นต้น ควรทิ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
แนวทางในการแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสตกค้างในผักผลไม้ส่งออก ควรเริ่มตั้งแต่เข้มงวดผลิตภัณฑ์ไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสที่วางจำหน่าย ไม่ควรมีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ผิดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องใช้ฉีดพ่นในอัตราที่ระบุบนฉลากเท่านั้น และเกษตรกรต้องทิ้งระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตรงตามที่ระบุไว้บนฉลากเท่านั้น (ได้มาจากการทดลองทางวิชาการ) เนื่องจากไซเปอร์เมทรินมี Hafe-life ในดินนาน 7-20 วัน และคลอไพริฟอสมี Hafe-life ในดินนาน 10 วัน พร้อมทั้งถ่ายทอดให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เกษตรกร และสำคัยที่สุดก่อนผลผลิตออกจากแปลงสู่แหล่งจำหน่ายและผู้บริโภค ควรมีการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยชุดตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรก่อนว่า ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสหรือไม่ ถ้าตรวจพบแสดงว่าเกินค่า MRL ควรระงับการออกจากแปลง แล้วนำมาตรวจซ้ำในห้องปฏิบัติการ ถ้าทำได้ตามระบบนี้เหมือนในนานาประเทศ ปัญหาสารพิษตกค้างของสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้ในผักผลไม้ส่งออก ต้องลดลงอย่างแน่นอน