คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออก (/showthread.php?tid=922)



การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออก - doa - 12-23-2015

การแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออก ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ครบวงจร
อุดมลักษณ์ อ่นจิตต์วรรธนะ, จิตตานันท์ สรวยเอี่ยม, ผกาสินี คล้ายมาลา, ลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, สุภาภรณ์ บ้งพรม, ไกรสีห์ ชูดี, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ และอุทัย เซ็นต์ภักดี
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษตร, สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา และกลุ่มประสานการตรวจรับรองมาตรฐาน สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช

          จากประเด็นปัญหาตรวจพบสารพิษตกค้างของสารไซเปอร์เมทริน และคลอไพริฟอสในผักผลไม้ส่งออกมาตั้งแต่ปี 2547-2552 โดยตรวจพบมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของทุกปี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษทางการเกษตร และหน่วยงานต่างๆ นอกกรมวิชาการเกษตร เริ่มตั้งแต่การตรวจเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ของสารพิษทั้ง 2 ชนิดในผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดพบว่า ในปี 2552-2553 ผลิตภัณฑ์ไซเปอร์เมทรินสูตร 10%, 15% 25% และ 35% w/v EC ตรวจพบสารออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน 69% และผลิตภัณฑ์คลอไพริฟอสสูตร 20%, 25% 40% w/v EC ตรวจพบสารออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน 49% ซึ่งสารวัตรเกษตรควรติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์หลังการขึ้นทะเบียนด้วย

          ในการสำรวจการใช้สารพิษของเกษตรกรในการปลูกผักและผลไม้ ทั้งในแปลงผักส่งออกและบริโภคภายในประเทศของทุกภาคในประเทศไทย (547 ราย) พบว่าเกษตรกรของทุกภาคเป็นชายมากกว่าหญิง และมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป การฉีดพ่นสารเคมีภาคกลางและภาคเหนือ ทำการฉีดพ่นสารเคมีมากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นเหมือนกันทุกภาคคือ อันดับ 1 ที่เกษตรกรนิยมใช้คือ ไซเปอร์เมทริน และรองลงมาได้แก่ คลอไพริฟอส ส่วนสารธรรมชาติที่เกษตรกรใช้สลับกับการใช้สารเคมี ได้แก่ สะเดา และน้ำหมักปลา หอย ผัก และผลไม้ ส่วนการฉีดพ่นสารเคมี เกษตกรทุกภาคนิยมฉีดพ่น 4-7 วัน/ครั้ง อัตราที่เกษตรกรทุกภาคใช้ เกษตรกรมากกว่า 80% ใช้ตามที่ระบุบนฉลาก การเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรส่วนใหญ่ของทุกภาคเก็บหลังฉีดพ่นครั้งสุดท้าย 4-7 วัน

          จากการสำรวจถั่วฝักยาวในแหล่งปลูกและแหล่งจำหน่ายทั้งหมด 104 ตัวอย่าง ใน 15 จังหวัด ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินตกค้าง 0.01-1.313 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบเกิน MRL (Maximum residue limits) 5 ตัวอย่าง (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทริน ในถั่วฝักยาว 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ระยะเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของไซเปอร์เมทรินในถั่วฝักยาวคือ 7 วัน และตรวจพบสารคลอไพริฟอสตกค้าง 0.03-0.81 มิลลิกรัม/กิดลกรัม) และระยะเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของคลอไพริฟอสในถั่วฝักยาวคือ 15 วัน

          ในการสำรวจลิ้นจี่ในแปลงปลูกและแหล่งจำหน่ายทั้งหมด 40 ตัวอย่าง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินตกค้าง 16 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.01-0.98 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตรวจพบสารคลอไพริฟอส 19 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.01-0.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่า Codex MRL ของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของไซเปอร์เมทรินในลิ้นจี่ 14-27 วัน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยของคลอไพริฟอสในลิ้นจี่ 28-34 วัน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เกษตรกรควรใช้สารพิษตามที่ฉลากแนะนำเท่านั้น และใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ก่อนติดผล และช่วงดอกบาน เป็นต้น ควรทิ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

          แนวทางในการแก้ปัญหาสารพิษตกค้างของไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสตกค้างในผักผลไม้ส่งออก ควรเริ่มตั้งแต่เข้มงวดผลิตภัณฑ์ไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสที่วางจำหน่าย ไม่ควรมีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ผิดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องใช้ฉีดพ่นในอัตราที่ระบุบนฉลากเท่านั้น และเกษตรกรต้องทิ้งระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตรงตามที่ระบุไว้บนฉลากเท่านั้น (ได้มาจากการทดลองทางวิชาการ) เนื่องจากไซเปอร์เมทรินมี Hafe-life ในดินนาน 7-20 วัน และคลอไพริฟอสมี Hafe-life ในดินนาน 10 วัน พร้อมทั้งถ่ายทอดให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เกษตรกร และสำคัยที่สุดก่อนผลผลิตออกจากแปลงสู่แหล่งจำหน่ายและผู้บริโภค ควรมีการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยชุดตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรก่อนว่า ตรวจพบสารไซเปอร์เมทรินและคลอไพริฟอสหรือไม่ ถ้าตรวจพบแสดงว่าเกินค่า MRL ควรระงับการออกจากแปลง แล้วนำมาตรวจซ้ำในห้องปฏิบัติการ ถ้าทำได้ตามระบบนี้เหมือนในนานาประเทศ ปัญหาสารพิษตกค้างของสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้ในผักผลไม้ส่งออก ต้องลดลงอย่างแน่นอน