12-23-2015, 01:22 PM
ประสิทธิภาพของสารเคมีในท้องถิ่นต่อการป้องกันและควบคุมโรครากขาว
อารมณ์ โรจน์สุจิตร, อุไร จันทรประทิน, พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์ และบุญปิยะธิดา แคล่วคล่อง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยยางสงขลา, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร
อารมณ์ โรจน์สุจิตร, อุไร จันทรประทิน, พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์ และบุญปิยะธิดา แคล่วคล่อง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยยางสงขลา, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร
โรครากขาวของยางพาราสาเหตุจากเชื้อรา Rigidoporus microporus เป็นโรคที่สำคัญที่สุด มีแพร่ระบาดทำความเสียหายแก่สวนยางทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกยางเดิมในภาคใต้ของประเทศไทย การใช้สารเคมีในการควบคุมโรครากของยางพาราถือว่าเป็นวิธีที่สะดวก ปฏิบัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพรวดเร็ว และให้ผลดีกว่าวิธีการอื่น ซึ่งพบว่าสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ป้องกันกำจัดโรครากขาวในปัจจุบันมีจำหน่ายในพื้นที่ปลูกยางภาคใต้น้อยมาก แต่ในพื้นที่ปลูกยางภาคตะวันออกพบว่ามีจำหน่ายอยู่ทั่วไป สารเคมีที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น เบนโนมิล เมตาแลกซิล ไอโปรไดโอน ฟอสฟอริกแอซิด วาลิดามัยซิน และอีทาบอกแซม พบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งและกำจัดเชื้อราโรครากขาว จึงศึกษาสารเคมีในกลุ่ม Triazole ชนิดที่ไม่อยู่ในคำแนะนำของสถาบันวิจัยยางคือ triadimefon, microbutanil, triflumizole และกลุ่ม Imidazole คือ prochloraz เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสเลือกใช้สารเคมีหลากหลายชนิดขึ้น จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยวิธี poisoned food technique พบว่า สารเคมีเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งและกำจัดเชื้อราโรครากขาวได้ 100% ที่ความเข้มข้น 100-1000 ppm. และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและกำจัดเชื้อราโรครากน้ำตาลและรากแดงได้ 100% ที่ความเข้มข้นเพียง 10-100 ppm. เท่านั้น และจากการทดสอบสาร triadimefon, prochloraz และ cyproconazole กับต้นยางที่เป็นโรครากขาวในสภาพแปลงปลูกโดยให้สาร 2 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 6 เดือน พบว่า cyproconazole 500 ppm. triadimefon และ prochloraz 2,000 ppm. มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาต้นยางที่เป็นโรคได้ดีมาก ส่วนสารเคมีชนิดอื่นที่เหลือ เช่น microbutanil ควรศึกษาพัฒนาวิธีการใช้ในสภาพแปลงต่อไป เพื่อให้มีชนิดสารเคมีที่หลากหลายสำหรับแนะนำเกษตรกรต่อไป