12-22-2015, 03:30 PM
การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ หัวเชื้อจุลินทรีย์ และสารปรับปรุงดิน เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตพริก
สุปรานี มั่นหมาย, ภาวนา ลิกขนานนท์, วิทยา ธนานุสนธิ์, ลาวัณย์ จันทร์อัมพร และพรทิพย์ แพงจันทร์
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
สุปรานี มั่นหมาย, ภาวนา ลิกขนานนท์, วิทยา ธนานุสนธิ์, ลาวัณย์ จันทร์อัมพร และพรทิพย์ แพงจันทร์
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หัวเชื้อจุลินทรีย์ และวัสดุอินทรีย์เหลือใช้จากการเกษตรในการผลิตพริก ดำเนินการทดลองทั้งในสภาพเรือนทดลอง สภาพไร่ และไร่นาเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานในการผลิตพริกสภาพเรือนทดลอง ดำเนินการทดลองในปี 2552 โดยการใช้ปุ๋ยชนิดต่างๆ ร่วมกันคือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักมูลโค) ปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต) และหัวเชื้อจุลินทรีย์ (Trichoderma sp.) ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในพริกพบว่า การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมักมูลโค และปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตเพาะเมล็ด และรองก้นหลุม ไม่แตกต่างทางสถิติจาการใช้ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์เพียงอย่างเดียว การทดลองในสภาพไร่ ในปี 2552 จำนวน 2 แปลง พบว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมักมูลโค หัวเชื้อจุลินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ทำให้อัตราการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าน้อยกว่าการไม่ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ การทดลองในสภาพไร่นาเกษตรในปี 2553 พบว่า การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมักมูลโค และปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ในแปลงของเกษตรกรรายที่ 1 ให้ผลผลิตพริกเฉลี่ยเท่ากับ 2,985 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,125 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนในแปลงของเกษตรกรรายที่ 2 การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมักมูลโค และปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้ผลผลิตเท่ากับ 2,530 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกรที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 2,005 กิโลกรัมต่อไร่