02-01-2017, 03:39 PM
ผลของราไตรโคเดอร์มาในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยราสาเหตุโรคจุดดำของส้มโอในห้องปฏิบัติการ
สุธามาศ ณ น่าน, ปฏิพัทธ์ ใจปิน, สนอง จรินทร และบุญปิยะธิดา คล่องแคล่ว
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงราย
สุธามาศ ณ น่าน, ปฏิพัทธ์ ใจปิน, สนอง จรินทร และบุญปิยะธิดา คล่องแคล่ว
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงราย
ทดสอบประสิทธิภาพของรา Trichoderma spp. ในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยรา Phyllosticta citricarpa สาเหตุโรคจุดดำของส้มโอในห้องปฏิบัติการ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ระหว่างเดือนตุลาคม 56 - กันยายน 57 ใช้วิธี soil dilution spread plate บนอาหาร Martin’s medium เพื่อแยกรา Trichoderma จากดินในสวนส้มโอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สามารถแยกได้รา Trichoderma บริสุทธิ์จำนวน 44 isolates สำหรับรา P. citricarpa แยกด้วยวิธี tissue transplanting จากใบและผลส้มโอที่มีอาการโรคจุดดำ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เส้นใยของราสาเหตุโรคเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อมาตรฐาน PDA ค่อนข้างช้า ดังนั้นจึงทดสอบชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อดังกล่าว โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD 8 กรรมวิธี 5 ซ้ำ กรรมวิธีคืออาหารเลี้ยงเชื้อรา 8 ชนิด ได้แก่ PDA, PSA, PoDA, CA, MEA, OMA, V8 และ WA เปรียบเทียบอัตราการเจริญของเส้นใยบนอาหารหลังจากบ่มเชื้อ 14 วัน พบว่าเส้นใยของรา P. citricarpa เจริญได้ดีที่สุดบนอาหาร OMA เท่ากับ 98.2% รองลงมา คือ อาหาร PoDA, และ PSA เจริญเท่ากับ 96.4, และ 88.9 % ตามลำดับ อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างทางสถิติของอัตราการเจริญเส้นใยของราบนอาหารทั้ง 3 ชนิด เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของรา Trichoderma spp. ต่อการยับยั้งการเจริญเส้นใยของรา P. citricarpa โดยวิธี Dual culture test คัดเลือกรา Trichoderma spp. จำนวน 17 ไอโซเลทที่แสดงประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของเส้นใยราสาเหตุโรค เมื่อบ่มเชื้อไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 3 วัน ปรากฏว่ารา 7 ไอโซเลท ได้แก่ T4, T9, T10, T14, T21, T29 และ T35 มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งเท่ากับ 43.3, 50.0, 50.0, 46.7, 43.3, 43.3 และ 50.0% ตามลำดับ และหลังจากบ่มเชื้อครบ 5 วันพบว่ารา Trichoderma spp. ไอโซเลท 35 และไอโซเลท 10 มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งการเจริญของเส้นใยราสาเหตุโรคจุดดำได้มากกว่าไอโซเลทอื่น คือ 52.1 และ 51.0% ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างทางสถิติกับสารชีวภัณฑ์การค้า