02-01-2017, 09:28 AM
การเปรียบเทียบเบื้องต้น : พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสี (ชุดที่ 3)
ปริญญา สีบุญเรือง, ถนัด กันต์สุข, กริศนะ พึ่งสุข, สุเมธี มาใหญ่ และวิลัยลักษณ์ นวลศรี
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์
ปริญญา สีบุญเรือง, ถนัด กันต์สุข, กริศนะ พึ่งสุข, สุเมธี มาใหญ่ และวิลัยลักษณ์ นวลศรี
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์
การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในการผลิตฝ้าย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แต่การใช้พันธุ์ฝ้ายพื้นเมือง (Gossypium arborium) ที่มีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้มีลักษณะบางประการที่เปลี่ยนไปจากพันธุ์เดิม แต่ยังสามารถทนทานต่อการเข้าทำลายของแมลงปากดูดโดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น และหนอนเจาะสมอฝ้ายเข้าทำลายน้อย นอกจากความทนทานต่อแมลงแล้ว พันธุ์ฝ้ายเหล่านั้นควรมีศักยภาพในการให้ผลผลิตอีกด้วย จึงจะสามารถใช้เป็นทางเลือกในการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ดังนั้นในปี 2556 ศูนยวิจัยพืชไร่นครสวรรค์จึงทำการเปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์ฝ้ายที่มีลักษณะดังกล่าว เพื่อประเมินผลผลิต คุณภาพเส้นใยและช่วงอายุเก็บเกี่ยว ภายใต้การปลูกแบบปลอดสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 2 ซ้ำ และมีฝ้ายจำนวน 32 พันธุ์ โดยมีพันธุ์ AKH4 และตากฟ้า3 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ใช้ระยะปลูก 1.50 x 0.50 เมตร แถวยาว 12 เมตร ขนาดแปลงย่อย 7.50 x 12 เมตร ผลการทดลองพบว่า ผลผลิตของทุกพันธุ์ไม่แตกต่างกันทางสถิติโดยให้ผลผลิตระหว่าง 227 - 329 กิโลกรัมต่อไร่ เฉลี่ย 268 กิโลกรัมต่อไร่ โดยทุกสายพันธุ์ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ตรวจสอบ AKH4 และตากฟ้า3 ร้อยละ 4 - 43 และ 24 - 80 ตามลำดับ ส่วนเปอร์เซ็นต์หีบเฉลี่ย 35% สำหรับคุณภาพเส้นใย จัดเป็นฝ้ายเส้นใยสั้นสีน้ำตาล มีค่าความยาวเส้นใยเฉลี่ย 0.96 นิ้ว ความเหนียวเส้นใยเฉลี่ย 19.3 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอเส้นใย 53 และความละเอียดอ่อนเส้นใย 5.2 ส่วนอายุการเก็บเกี่ยวพบว่า ทุกสายพันธุ์มีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกับพันธุ์ตรวจสอบ AKH4 แต่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์ตรวจสอบตากฟ้า3 เนื่องจากมีอายุถึงวันสมอแตก 50% ระหว่าง 90 - 96 วัน ในขณะที่พันธุ์ AKH4 และตากฟ้า3 มีอายุถึงวันสมอแตก 95 และ 113 วันตามลำดับ