วิจัยและพัฒนาลำไย
#1
วิจัยและพัฒนาลำไย
นิพัฒน์ สุขวิบูลย์

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไย
วิทยา อภัย, สมเพชร เจริญสุข, สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง, สนอง อมฤกษ์, มานพ หาญเทวี และสนอง จรินทร

          ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่เก็บรักษาได้เพียง 2 - 3 วัน เนื่องจากสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่าเสีย การรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สามารถยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างส่งออกได้นาน 30 - 40 วัน แต่บ่อยครั้งที่พบปัญหาการตกค้างของ SO2 ในผลเกินค่ามาตรฐานกำหนดของสาธารณรัฐประชาชนจีนและมีบางประเทศไม่ยอมรับผลไม้ที่ผ่านการรมก๊าซ SO2 ทำให้เป็นข้อจำกัดในการส่งออกลำไยของไทย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไยเพื่อการส่งออกระหว่างปี 2554 - 2556 โดยวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ทดแทนการรมก๊าซ SO2 ผลการดำเนินงานได้วิจัยจนได้คำแนะนำลดการตกค้างของ SO2 เช่น ผลที่เปียกน้ำฝนควรแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 5% นาน 5 นาที พบว่าการตกค้างของ SO2 ต่ำกว่าการรมก๊าซ SO2 ปกติ การวิจัยหาเทคโนโลยีทดแทนการรมก๊าซ SO2 เพื่อยืดอายุเก็บรักษาลำไยพบว่า การแช่ผลในกรดไฮโดรคลอริก 6.4% นาน 5 นาทีมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เก็บรักษาลำไยที่ 2 - 5 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 90%ได้นาน 35 วัน มีการตกค้างต่ำ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการส่งออกและผู้บริโภคยอมรับร้อยละ 82 และ 80 ตามลำดับ คณะวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องต้นแบบแช่กรดไฮโดรคลอริกแทนแรงงานคนที่มีขีดความสามารถ 10 ตะกร้าพลาสติกต่อ 5 นาที ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนานี้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งออกลำไยได้ต่อไป

โครงการวิจัยที่ 2 โครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์ลำไย
นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, ศิรากานต์ ขยันการ, อรุณี ใจเถิง, นฤนาท ชัยรังษี, เกียรติรวี พันธ์ไชยศรี, พิจิตร ศรีปินตา และอนันต์ ปัญญาเพิ่ม

          การรวบรวม จำแนก ประเมินคุณค่า และพัฒนาพันธุ์ลำไย ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย (ศวส.เชียงราย) และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ (ศวกล. เชียงใหม่) ระหว่างปี 2554 - 2558 ซึ่งที่ ศวส. เชียงรายมี 49 พันธุ์/สายพันธุ์ ในพื้นที่ 8 ไร่ และศวกล.เชียงใหม่มี 27 พันธุ์/สายพันธุ์ ในพื้นที่ 3 ไร่ พบว่าลำไยที่รวบรวมพันธุ์ไว้มีลักษณะใบ ดอก ผล เนื้อ และเมล็ดที่แตกต่างกัน ลักษณะสำคัญที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกพันธุ์ได้ คือ รูปร่างใบ รูปร่างผล สีเนื้อ และช่วงการออกดอกติดผล ลำไยที่มีขนาดทรงพุ่มเล็ก ได้แก่ พันธุ์ฟิลิปปินส์ และลำไยเถา ลำไยที่มีพฤติกรรมออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปีหรือออกดอกนอกฤดู ได้แก่ พันธุ์เวียดนาม เพชรสาคร เพชรยะลา ฟิลิปปินส์ และลำไยเถา ลำไยที่มีเมล็ดลีบหรือเมล็ดไม่พัฒนา ได้แก่ พันธุ์เมล็ดลีบ และไร้เมล็ด สำหรับลำไยพันธุ์เวียดนามค่อนข้างอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของไรสี่ขา ได้ทำฐานข้อมูลพันธุกรรมลำไยจนครบทุกลักษณะ 34 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้เพิ่มเติมและพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการพันธุ์ลำไยทุกปี

          ปี 2554 - 2556 ได้คัดเลือกพันธุ์สำหรับใช้ผสมพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ออกดอกติดผลหรือเก็บเกี่ยวได้เร็วหรือนอกฤดูและคุณภาพดี ทำการผสมพันธุ์จำนวน 72 คู่ผสม แล้วปลูกต้นลูกผสมรวม 869 ต้น ในแปลงคัดเลือกลูกผสม พร้อมทั้งได้นำยอดลูกผสมบางส่วนไปเสียบยอดบนต้นพันธุ์ดอ 10 ต้น ที่ออกดอกติดผลแล้วที่ศวส. เชียงราย การศึกษาลักษณะลูกผสมจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการพัฒนาพันธุ์ลำไยระยะที่ 2 (2559 - 2564)

โครงการวิจัยที่ 3 แก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก
อรุณี วัฒนวรรณ, ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี แท่งทอง และชนะศักดิ์ จันปุ่ม

          การทดสอบผลของการเตรียมต้นและการตัดแต่งช่อผลต่อการเพิ่มขนาดผลลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก ดำเนินในแปลงลำไยอายุ 10 - 12 ปี ของเกษตรกรในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 13 ราย ทดสอบการเตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วน N : P : K เท่ากับ 4:3:1 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น กำจัดศัตรูพืชที่หลงเหลือจากฤดูกาลก่อน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการตัดแต่งช่อผล โดยตัดแต่งช่อผลออกประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวช่อ หรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ ในระยะที่ผลลำไยมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร (กรรมวิธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรที่เตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอบำรุงต้น และให้น้ำเป็นครั้งคราวก่อนการชักนำการออกดอก 1 เดือน ร่วมกับการตัดแต่งช่อผล โดยตัดแต่งช่อผลในระยะที่ผลลำไยมีขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยตัดแต่งปลายช่อผลออกเล็กน้อย พบว่ากรรมวิธีแนะนำมีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออก (เกรด 1 และ 2) สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรร้อยละ 14 ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการเตรียมต้น ทำให้ต้นลำไยแข็งแรง สมบูรณ์ และการตัดแต่งช่อผล ทำให้มีการไว้ผลในปริมาณที่เหมาะสม ผลจึงมีการเจริญเติบโตได้ดี

          การทดสอบผลการเตรียมต้นและการเร่งการสลายตัวของคลอเรตในดินต่อการชักนำการออกดอกนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก ดำเนินในแปลงลำไยอายุ 10 - 12 ปี ของเกษตรกรในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 13 ราย ทดสอบการเตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วน N : P : K เท่ากับ 4:3:1 อัตรา 1 - 2 กิโลกรัมต่อต้น กำจัดศัตรูพืชที่หลงเหลือจากฤดูกาลก่อน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการการเร่งการสลายตัวของคลอเรต โดยใช้สารละลายกากน้ำตาล:น้ำ ในอัตรา 1:30 ราดลงดินรอบทรงพุ่มในปริมาณ 5 ลิตร/ตร.ม. หลังการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 เดือน (กรรมวิธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรที่เตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอบำรุงต้น และให้น้ำเป็นครั้งคราวก่อนการชักนำการออกดอก 1 เดือน และไม่มีการเร่งการสลายตัวของคลอเรต พบว่าการออกดอกของทั้งกรรมวิธีแนะนำและกรรมวิธีเกษตรกรไม่แตกต่างกัน โดยมีการออกดอกเฉลี่ยร้อยละ 88 และ 90 ตามลำดับ สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ปริมาณสารคลอเรตในดินของทั้งสองกรรมวิธี พบปริมาณสารคลอเรตตกค้างในดินในปริมาณที่ต่ำมาก (น้อยกว่า 5 ppm) อาจกล่าวได้ว่าการเร่งการสลายตัวของคลอเรตในดินไม่มีผลต่อการชักนำการออกดอกของลำไยนอกฤดู แต่การเตรียมต้นตามกรรมวิธีแนะนำมีผลทำให้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร โดยมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,970 และ 1,764 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 66,367 และ 57,158 บาทต่อไร่ ตามลำดับ และพบว่ากรรมวิธีแนะนำมีต้นทุนต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 1,551 บาทต่อไร่ และพบว่าทั้งสองกรรมวิธีมีค่า BCR>1 แสดงถึงการลงทุนที่มีผลก าไร สามารถทำการผลิตได้ แต่กรรมวิธีแนะนำสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิตและผลตอบแทนได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเตรียมต้นตามกรรมวิธีแนะนำ ทำให้ต้นลำไยแข็งแรง สมบูรณ์กว่ากรรมวิธีเกษตรกร

          การทดสอบการป้องกันกำจัดโรคพุ่มไม้กวาดของเกษตรกรในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก โดยการควบคุมกำจัดอาการพุ่มไม้กวาดในแปลงลำไยอายุ 7 - 15 ปี ของเกษตรกรในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 20 แปลง ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วยการตัดแต่งกิ่งและนำกิ่งไปเผาทำลาย ร่วมกับการกำจัดไรซึ่งเป็นแมลงพาหนะ โดยพ่นกำมะถันผง 80%WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 1 - 3 ครั้ง ห่างกัน 5 - 7 วัน หรืออามีทราช 20%EC อัตรา 40 มิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 1 - 3 ครั้ง ห่างกัน 5 - 7 วัน ในระยะการเตรียมต้นก่อนการกระตุ้นการออกดอกด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรต เปรียบเทียบการแสดงอาการพุ่มไม้กวาดก่อนและหลังการป้องกันกำจัด พบว่าต้นลำไยแสดงอาการพุ่มไม้กวาดลดลงจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 10 ของต้นในปีแรก และลดลงจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 4 ของต้นในปีถัดมา โดยมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมกำจัดอาการพุ่มไม้กวาดเฉลี่ย 894 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วยค่าสารกำมะถันผงเฉลี่ย 55 บาท/ไร่/ครั้ง ค่าสารอามีทราชเฉลี่ย 136 บาท/ไร่/ครั้ง และค่าแรงในการพ่นเฉลี่ย 63 บาท/ไร่/ครั้ง

โครงการวิจัยที่ 4 การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, พิจิตร ศรีปินตา, ศิริพร หัสสรังสี, นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, นฤนาท ชัยรังษี, วิทยา อภัย, อนรรค อุปมาลี, อาทิตยา พงษ์ชัยสิทธิ์, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, เนาวรัตน์ ตั้งมั่นคงวรกูล และจงรัก อิ่มใจ

          โครงการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดำเนินการระหว่างปี 2555 – 2558 ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ ทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน (อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน) และเทคโนโลยีการจัดการศัตรูลำไยเพื่อแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดู จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน และเพื่อลดสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยและลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในการทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝนพบว่า การระบาดของศัตรูลำไยในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแมลงที่ใช้วิธีการของเกษตรกรมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้ หนอนม้วนใบ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง และไร (พุ่มไม้กวาด) พบการระบาดเพียงเล็กน้อย โดยที่ปริมาณแมลงศัตรูลำไยทุกชนิดที่ตรวจนับได้ในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกรไม่มีความแตกต่างทางสถิติ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน การเตรียมความพร้อมของต้นลำไยก่อนใส่สาร โดยพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 120-150 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ในระยะพักต้นก่อนการใส่สาร KClO3 และสูตร 10-52-17 อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน ในช่วงเริ่มแทงช่อดอก การจัดการเพื่อกระตุ้นการออกดอก โดยหว่านสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) เป็นวงบริเวณรอบทรงพุ่ม ในอัตรา 150 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร การเพิ่มขนาดผลผลิต พ่นสารเอ็นเอเอ ความเข้มข้น 200 ppm หลังจากดอกบาน 15 วัน ลำไยมีการติดผลประมาณ 70% พบว่าแปลงทดสอบได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ในด้านความกว้างผล ความยาวผล ความหนาผล ความหนาเนื้อ น้ำหนักเนื้อ/ผลและความหวาน (TSS) ผลผลิตเฉลี่ยแปลงทดสอบ 1,434 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 64,063 บาท/ ไร่ ในแปลงเกษตรกร 1,226 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 48,183 บาท/ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 3,280 บาท/ ไร่ (20%) โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนในแปลงทดสอบ (5) สูงกว่าแปลงเกษตรกร (3) จึงคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า

          การทดสอบเทคโนโลยีที่การจัดการศัตรูลำไยเพื่อแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดู จังหวัดเชียงใหม่ เปรียบเทียบวิธีการที่แนะนำด้านการดูแลรักษาต้นลำไย การตัดแต่งกิ่ง การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไย การจัดการเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูลำไยและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการแมลงศัตรูลำไยกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกร พบการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้สูงสุดร้อยละ 52.5 และ 29.6 ในแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกร และในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำตามลำดับ ในระยะใบอ่อนที่อากาศแห้งแล้ง รองลงมา คือ ไร ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จึงแนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ส่วนศัตรูพืชชนิดอื่นๆ เช่น หนอนม้วนใบ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย พบในปริมาณน้อย โดยที่ปริมาณแมลงศัตรูลำไยทุกชนิดที่ตรวจนับได้ในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกรไม่มีความแตกต่างทางสถิติ จากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในแปลงทดสอบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่ในแปลงเกษตรกรยังมีความเสี่ยงจากการพบสารเคมีคาร์บาริลตกค้างในผลผลิต ซึ่งยังไม่มีค่ามาตรฐาน MRL (Thai) เห็นได้ว่าผลผลิตในแปลงทดสอบมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารพิษตกค้างน้อยกว่าแปลงเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ เทคโนโลยีการจัดการศัตรูลำไยสามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไยได้ร้อยละ 40 แปลงทดสอบได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ค่าเฉลี่ยในด้านความกว้างผล ความยาวผล ความหนาผล ความหนาเนื้อ น้ำหนักเนื้อ/ผล และความหวาน (TSS) มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ผลผลิตเฉลี่ยแปลงทดสอบ 1,460 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 51,100 บาท/ไร่ ในแปลงเกษตรกร 1,370 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 35,970 บาท/ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านการผลิตลำไยนอกฤดูลงได้ 18% โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนในแปลงทดสอบ (3.72) สูงกว่าแปลงเกษตรกร (2.57) จึงคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า คุณภาพผลด้านการวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไยตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดู ปี 2557/2558 โดยสุ่มเก็บผลผลิตลำไยวิเคราะห์สารพิษตกค้างในเกษตรกรทั้ง 5 ราย พบว่าในกรรมวิธีทดสอบ พบสารเคมีตกค้าง 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสใน 3 ราย (เฉลี่ย 0.09) และสารเคมีไซเปอร์เมทรินใน 3 ราย (เฉลี่ย 0.12) ส่วนกรรมวิธีเกษตรกรพบสารเคมีตกค้าง 4 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส 4 ราย (เฉลี่ย 0.02) ไซเปอร์เมทริน 4 ราย (เฉลี่ย 0.31) แอล-ไซฮาโลทริน 1 ราย (เฉลี่ย 0.05) และคาร์บาริล 1 ราย (เฉลี่ย 1.31) ค่าที่พบทุกรายยังต่ำกว่าค่ามาตรฐาน MRL (Thai) ยกเว้น คาร์บาริล ที่ไม่ระบุค่ามาตรฐาน จากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในแปลงทดสอบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่ในแปลงเกษตรกรยังมีความเสี่ยงจากการพบสารเคมีคาร์บาริลตกค้างในผลผลิต ซึ่งยังไม่มีค่ามาตรฐาน MRL (Thai) เห็นได้ว่าผลผลิตในแปลงทดสอบมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารพิษตกค้างน้อยกว่าแปลงเกษตรกร

โครงการวิจัยที่ 5 เพิ่มศักยภาพการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไยเพื่อการส่งออกในพื้นที่ภาคตะวันออก
เกษสิริ ฉันทพิรยะพูน, ประไพ หงษา, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, ขนิษฐา วงษ์นิกร, ดาวนภา ช่องวารินทร์, สมชาย ฉันทพิริยะพูน, ธนิกา สีเผือก, จิตติลักษณ์ เหมะ และอุมาพร รักษาพราหมณ์

          การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์รมลำไยผลสดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาลำไยเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ในช่วงปี 2553 - 2557 นั้น พบปัญหาซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานของประเทศจีน 50 มก./กก. ทำให้ประเทศจีนแจ้งเตือนอยู่บ่อยครั้ง จากปัญหาดังกล่าวหากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประเทศจีนอาจระงับการนำเขาลำไยจากประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ภาคตะวันออก มูลค่าไม่น้อยกว่า 4,752 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านบาทของผู้ผลิตลำไยทั้งประเทศ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องทำการวิจัยค้นหาสาเหตุหรือปัญหาของผู้ประกอบการ ในการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งศึกษาห้องรมที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นโรงรมต้นแบบในการให้คำแนะนำและเป็นโรงรมที่ผู้ประกอบการสามารถศึกษาการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกต้องและเหมาะสมได้

           จากการศึกษาโรงรมในพื้นที่ภาคตะวันออกในปี พ.ศ. 2553 – 2555 พบว่าโรงรมในพื้นที่ภาคตะวันออก มี 5 แบบ จำแนกโรงรมตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังนี้ โรงรมแบบที่ 1 เป็นโรงรมที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (โรงรมชนิดนี้ต้องปรับปรุงเนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 1004–2557) โรงรมชนิดที่ 2 ใช้ท่อและปั๊ม ช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โรงรมชนิดที่ 3 ใช้พัดลมช่วยในการกระจายตัวของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โรงรมชนิดที่ 4 เหมือนแบบที่ 3 แต่มีระบบน้ำหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิไอกำมะถัน ก่อนเข้าห้องรม โรงรมชนิดที่ 5 ระบบบังคับทิศทางลม 1 โรง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าโรงรมส่วนใหญ่ ใช้พัดลมช่วยในการกระจายตัวของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่เนื่องจากการติดตั้งพัดลมเพื่อช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีหลายแบบซึ่งให้ผลต่อการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอรืไดออกไซด์ที่แตกต่างกัน จากการศึกษาพบว่า การติดตั้งพัดลมที่ส่งผลให้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลลำไยให้ผลดีที่สุด เป็นการติดตั้งพัดลม 4 ตัว ติดตั้งบริเวณด้านในห้องเหนือจุดที่ปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าห้องรม 2 ตัว ปรับพัดลมให้ก้มลงทำมุม 45 องศา และพัดลมอีก 2 ตัว ติดตั้งด้านหน้าเหนือพื้นประมาณ 45 ซม. จากผลการศึกษาพบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไย จำนวน 5 พาเลท (พาเลทวางเป็นชั้นๆ จำนวน 10 ชั้นๆ ละ 4 ตะกร้า ) แต่ละพาเลท วิเคราะห์ 3 ระดับ บน กลาง ล่าง พบว่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในจุดต่างๆที่ทำการวิเคราะห์ มีค่าใกล้เคียงกันดังนี้ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยอยู่ในช่วง 26.26 – 48.41 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 34 มก./กก. เปลือก 1504.78 – 2088.01 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 1783.20 มก./กก. ทั้งผลซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง 237 - 348.45 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 307.14 มก./กก. จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ t –test พบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั้ง 5 พาเลท ที่วางตามจุดต่างๆ และในแต่ละระดับทั้ง บน กลาง ล่าง มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตกค้างไม่แตกต่างกันทางสถิติ

          ปัจจัยที่ช่วยให้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในระดับที่ปลอดภัย นอกจากติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการกระจายตัวแล้ว ผู้ประกอบการต้องคำนวณปริมาณซัลเฟอร์ตาม มกษ 1004-2557 ให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง ต้องมีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับการแพร่และกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อัตราห้องขนาดกลาง (40 - 50 ลบ.ม.) ไม่นัอยกว่า 8: 1 นอกจากนั้นการบำบัดแก๊สต้องใช้มอเตอร์ที่มีกำลังไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับดูดแก๊สออกไปบำบัด หอบำบัดต้องมีน้ำปูนใสและวัสดุสำหรับชะลอตัวขอแก๊ส และเพิ่มพื้นที่สัมผัสเพื่อกำจัดแก๊สส่วนเกินก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม


ไฟล์แนบ
.pdf   209_2558.pdf (ขนาด: 4.36 MB / ดาวน์โหลด: 2,036)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม