วิจัยและพัฒนาถั่วลิสง
#1
วิจัยและพัฒนาถั่วลิสง
วรยุทธ ศิริชุมพันธ์

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง
สมศักดิ์ อิทธิพงษ์ และคณะ

         เนื่องจากถั่วลิสงเป็นพืชที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการการบริโภค และประสบปัญหา ผลผลิตและคุณภาพต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง เพื่อแก้ปัญหา โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงฝักต้มและถั่วลิสงเมล็ดปานกลาง ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์รับรองเดิม และพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและทนทานโรคยอดไหม้ รวมทั้งข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ 2) เพื่อจำแนกลักษณะและประเมินคุณค่าเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืช 3) เพื่อสร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการจัดการผลิตถั่วลิสง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของถั่วลิสง 4) เพื่อเพิ่มคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ลดปัญหาสารพิษอะฟลาทอกซิน เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานในการผลิต และเพิ่มมูลค่าของถั่วลิสงโดยใช้ใบและต้นหมักเป็นอาหารสัตว์ โดยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรม ระหว่างปี 2554 - 2558 ผลการทดลองพบ 1) สายพันธุ์ดีเด่นขนาดเมล็ดปานกลางที่ให้ผลผลิตสูง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ KK97-44-106 KK4915-2 KK4918-3 และ KK4920-15 สายพันธุ์ถั่วลิสงฝักสดต้มดีเด่น คือ สายพันธุ์ KKFCRC49-02-2-1 และ KKFCRC49-06-7-1 2) สายพันธุ์ถั่วลิสงฝักสดต้ม 44 สายพันธุ์ และถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลาง 40 สายพันธุ์ ที่ทนทานต่อโรคยอดไหม้ 3) ข้อมูลจำเพาะของสายพันธุ์ดีเด่น คือ 3.1) ได้ค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของถั่วลิสง 10 สายพันธุ์ ใช้ในแบบจำลอง CSM-CROPGRO-Peanut 3.2) การใส่แคลเซียมและปุ๋ยเคมีไม่มีผลต่อผลผลิตของสายพันธุ์ขนาดเมล็ดปานกลาง KK 97-44-106 และ KK 43-46-1 แต่มีผลกับถั่วลิสงฝักต้มสายพันธุ์ KKFC49-02-8-3 3.3) อัตราประชากรที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ KK94-4-106 KK43-46-1 และถั่วลิสงฝักต้มสายพันธุ์ KKFCRC4906-7-1 และ KKFCRC4902-8-3 คือ 48,000 - 64,000 ต้นต่อไร่ 32,000 - 48,000 ต้นต่อไร่ 16,000 ต้นต่อไร่ และ 16,000 ต้นต่อไร่ ตามลำดับ โดยมีอายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกันในฤดูแล้งและฝน 3.4) การศึกษาปฏิกิริยาของสายพันธุ์ถั่วลิสงต่อโรคยอดไหม้พบว่า มี 10 สายพันธุ์ เป็นโรคยอดไหม้ในธรรมชาติต่ำกว่าและแตกต่างจากพันธุ์ตรวจสอบ แต่ไม่พบความแตกต่างกับนโรคโคนเน่า ส่วนกับโรคทางใบที่อายุ 45 วัน ยังไม่พบอาการของโรคราสนิม อาจเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการเกิดโรค 4) ข้อมูลลักษณะสัณฐานวิทยา ลักษณะทางเกษตรของเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสงประมาณ 300 สายพันธุ์ 5) ได้แผนที่และฐานข้อมูลการผลิตถั่วลิสงจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิต ถั่วลิสง 6) การให้น้ำหยดในฤดูแล้งไม่เกิน 350 มิลลิเมตร ตลอดฤดูปลูก ให้ผลผลิตสูงสุดในทุกพันธุ์ และพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการให้น้ำกับผลผลิต ส่วนในฤดูฝนควรให้น้ำรวมไม่เกิน 135 มิลลิเมตร แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการให้น้ำกับผลผลิต 7) การพ่นด้วยสาร fipronil 5%SC เมื่ออายุ 7 วันหลังงอก จะช่วยควบคุมเพลี้ยไฟ และการระบาดของโรคยอดไหม้ถั่วลิสง และการใช้สาร cholorpyrifos (Pyrinex 5 G) 5%G 2 ครั้ง คือ พร้อมปลูก และอายุ 30 - 35 วัน สามารถลดการทำลายของปลวก และการคลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสาร iprodione สามารถลดการทำลายโรคโคนเน่าขาว 8) การปลูกถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 ในเขตชลประทานของจังหวัดเชียงใหม่ในฤดูแล้งช่วงต้นถึงกลางเดือนเมษายน ให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนสูง ส่วนการปลูกในปลายฤดูฝนช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ให้ผลผลิตและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ แนะนำให้เกษตรกรใช้สายพันธุ์ KK 49-20-15 ปลูกเพื่อผลิตเป็นถั่วฝักสด เพราะให้ผลผลิตและรสชาติในการบริโภคสูง และการใช้ฟอสโฟยิปซั่ม และยิปซั่ม เป็นแหล่งแคลเซียมมีผลทำให้ผลผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าปูนขาว 9) การแช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกช่วยเร่งเฉพาะความเร็วในการงอก หรือทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกเพิ่มขึ้นในเมล็ดที่มีคุณภาพสูงหรือเมื่อเผชิญสภาวะที่จำกัดการงอก แต่เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำ การแช่เมล็ดพันธุ์อาจเป็นผลเสียต่อการงอก ส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 84-7 ขอนแก่น 84-8 และสายพันธุ์ KK97-44-106 สามารถเก็บเกี่ยวทำเมล็ดพันธุ์ได้ตั้งแต่ระยะ R7 โดยที่เมล็ดพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง 10) พบวิธีการหมักต้นถั่วลิสงเป็นอาหารสัตว์ที่สามารถเก็บรักษาได้ 2 - 5 เดือน การคลุกเมล็ดด้วยน้ำคั้นกระเทียมเจือจาง 1:1 มีศักยภาพในการควบคุมสารอะฟลาทอกซินและเชื้อราสาเหตุมากที่สุด แต่ผลในการควบคุมยังลำช้าและมีความแปรปรวนสูง จึงควรทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนแนะนำเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 11) เครื่องปลิดฝักถั่วลิสงแบบใช้เครื่องยนต์ มีความเหมาะกับเกษตรกรที่ต้องใช้ฝักไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นต้นทุนการปลิด 1.80 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับใช้แรงงานคน 2.5 - 3.0 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเครื่องหั่นย่อยต้นถั่วลิสงสำหรับทำปุ๋ยหมักและอาหารสัตว์ในระดับเกษตรกร สามารถหั่นย่อยต้นถั่วลิสงในอัตรา 515 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สำหรับเครื่องอบแห้งแบบกระบะสลับทิศทางลมร้อนสำหรับการลดความชื้นฝักถั่วลิสง สามารถลดความชื้นฝักถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 จากความชื้น 25.9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะสำหรับการอบฝักถั่วลิสงในช่วงฤดูฝน เพื่อลดความเสียหายของฝักจากเชื้อราที่สร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน

          จากผลการทดลองดังกล่าว สามารถนำสายพันธุ์ดีเด่นไปประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ หรือใช้ประโยชน์ในงานปรับปรุงพันธุ์พันธุ์ต่อไป ส่วนงานวิจัยและพัฒนาด้านอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นคำแนะนำ เผยแพร่ หรือวิจัยและพัฒนาต่อยอดต่อไป

โครงการวิจัยที่ 2 โครงการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงเฉพาะพื้นที่
สุเมธ อ่องเภา และคณะ

          การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงเฉพาะพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการผลิต และเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงเฉพาะพื้นที่ ดำเนินการปี 2554 - 2558 จำนวน 22 จังหวัด เกษตรกรร่วมทดสอบจังหวัดละ 5 - 10 ราย โดยทดสอบเปรียบเทียบวิธีเดิมของเกษตรกรกับวิธีทดสอบ ซึ่งจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ทดสอบในพันธุ์เดียวกัน แต่ต่างกรรมวิธี ใน 17 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร ศรีษะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา อำนาจเจริญ มหาสารคาม สระบุรี และลพบุรี กลุ่มที่ 2 ทดสอบต่างกันทั้งพันธุ์และกรรมวิธี ใน 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม พังงา พัทลุง และสงขลา กลุ่มที่ 3 ทดสอบต่างพันธุ์ แต่กรรมวิธีเหมือนกันใน 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ผลการทดสอบ สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผลการทดสอบสามารถยกระดับผลผลิต ทำให้มีผลตอบแทน รวมทั้งสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุน (BCR) สูงกว่าวิธีเกษตรกรอย่างชัดเจนใน 16 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ชัยภูมิมุกดาหาร ศรีษะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด สระบุรี ลพบุรี พังงา พัทลุง และสงขลา ผลผลิตเฉลี่ยวิธีทดสอบสูงกว่าวิธีเกษตรกร 4 - 371 กก./ไร่ โดยยกระดับผลผลิตได้ร้อยละ 7 - 58 และผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 - 75 มีค่า BCR สูงกว่าวิธีเกษตรกรอย่างชัดเจน กลุ่มที่ 2 ผลการทดสอบในบางปี ผลผลิตเฉลี่ย ผลตอบแทน และค่า BCR ต่ำกว่าวิธีของเกษตรกร ใน 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ กาฬสินธุ์ อุดรธานี อำนาจเจริญ และมหาสารคาม โดยผลผลิตเฉลี่ยวิธีเกษตรกรสูงกว่าวิธีทดสอบ 7 - 353 กก./ไร่ ต่ำกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 7 - 58 และผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 15 - 20 ค่า BCR มีแนวโน้มใกล้เคียง และต่ำกว่าวิธีของเกษตรกร ผลการทดสอบทำให้ได้กษตรกรต้นแบบ จำนวน 22 ราย และมีการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่เหมาะสมในพื้นที่ไปยังเกษตรกร 200 ราย


ไฟล์แนบ
.pdf   205_2558.pdf (ขนาด: 1.55 MB / ดาวน์โหลด: 18,002)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม