12-21-2015, 02:10 PM
การเก็บรักษาตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์
ศิริณี พูนไชยศรี, เตือนจิตต์ สัตยาวิรุทธิ์, ชลิดา อุณหวุฒิ, ลักขณา บำรุงศรี, ยุวรินทร์ บุญทบ, สุนัดดา เชาวลิต, ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม และสิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ศิริณี พูนไชยศรี, เตือนจิตต์ สัตยาวิรุทธิ์, ชลิดา อุณหวุฒิ, ลักขณา บำรุงศรี, ยุวรินทร์ บุญทบ, สุนัดดา เชาวลิต, ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม และสิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์แมลงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักอนุกรมวิธานและผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกีฏวิทยา ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบค้น อ้างอิง เปรียบเทียบ ตรวจสอบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บรวบรวมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้ตัวอย่างที่เก็บรวบรวมนั้นมีความสมบูรณ์ทั้งรูปร่างลักษณะและรายละเอียดของข้อมูล ก่อนนำเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจ รวบรวมตัวอย่างแมลงจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนกันยายน 2553 โดยกำหนดตัวชี้วัดเป็นการเก็บรักษาด้วงอันดับ Coleoptera ผีเสื้ออันดับ Lepidoptera และเพลี้ยไฟอันดับ Thysanoptera ผลการศึกษาสามารถรวบรวมตัวอย่างแมลงได้ทั้งหมด 6,842 ตัวอย่าง โดยเป็นด้วง 556 ตัวอย่าง (15 วงศ์) ผีเสื้อ 2,728 ตัวอย่าง (28 วงศ์) และเพลี้ยไฟ 3,558 ตัวอย่าง (1 วงศ์) แมลงทั้ง 3 อันดับมีวิธีการเก็บรักษาดังนี้ด้วงและผีเสื้อเก็บรวบรวมได้ 2 วิธีการ ได้แก่ ใช้สวิงจับแมลงและวิธีการใช้กับดักแสงไฟ (light trap) สำหรับตัวอ่อนเก็บรักษาในแอลกอฮอล์ 80% ด้วงตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ฆ่าในขวดฆ่า นำจัดรูปร่างบนไม้จัดรูปร่างตัวอย่างแมลง โดยใช้เข็มไร้สนิมปักที่มุมด้านหน้าของปีกขวา จัดขาทั้ง 3 คู่ให้อยู่ในลักษณะเกาะหรือเดิน ตัวเต็มวัยขนาดเล็กติดบนกระดาษแข็งรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ส่วนผีเสื้อกลางวันฆ่าโดยวิธีบีบอก (ผีเสื้อกลางวัน) แต่ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ฆ่าโดยใช้เข็มฉีดยาบรรจุ ethyl acetate ที่บริเวณอกด้านล่าง ผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กฆ่าในขวดฆ่า นำจัดรูปร่างบนไม้จัดรูปร่างตัวอย่างแมลง โดยใช้เข็มไร้สนิมปักบริเวณกลางอก จัดปีกให้กางออกโดยให้ขอบล่างของปีกคู่หน้าตั้งฉากกับลำตัว ขอบบนของปีกคู่หลังอยู่ใต้ขอบล่างของปีกคู่หน้า นำตัวอย่างด้วงและผีเสื้อที่จัดรูปร่างแล้วอบให้แห้งในตู้อบแมลงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 - 60 วัน และสำหรับเพลี้ยไฟมีวิธีการเก็บรวบรวม โดยใช้พู่กันเขี่ยเพลี้ยไฟตัวอ่อนและตัวเต็มวัยแต่ละตัวลงในขวด ที่บรรจุน้ำยา AGA หรือโดยวิธีเขย่าส่วนของพืชให้เพลี้ยไฟตกลงกระดาษที่รองรับแล้วใช้ใช้พู่กันเขี่ยลงในน้ำยา AGA จากนั้นนำตัวอย่างเพลี้ยไฟไปทำสไลด์ถาวรและอบให้แห้งในตู้อบแมลงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 15 - 50 วัน