การเก็บรักษาตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การเก็บรักษาตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ (/showthread.php?tid=814) |
การเก็บรักษาตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ - doa - 12-21-2015 การเก็บรักษาตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ ศิริณี พูนไชยศรี, เตือนจิตต์ สัตยาวิรุทธิ์, ชลิดา อุณหวุฒิ, ลักขณา บำรุงศรี, ยุวรินทร์ บุญทบ, สุนัดดา เชาวลิต, ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม และสิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์แมลงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักอนุกรมวิธานและผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกีฏวิทยา ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบค้น อ้างอิง เปรียบเทียบ ตรวจสอบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บรวบรวมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้ตัวอย่างที่เก็บรวบรวมนั้นมีความสมบูรณ์ทั้งรูปร่างลักษณะและรายละเอียดของข้อมูล ก่อนนำเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจ รวบรวมตัวอย่างแมลงจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนกันยายน 2553 โดยกำหนดตัวชี้วัดเป็นการเก็บรักษาด้วงอันดับ Coleoptera ผีเสื้ออันดับ Lepidoptera และเพลี้ยไฟอันดับ Thysanoptera ผลการศึกษาสามารถรวบรวมตัวอย่างแมลงได้ทั้งหมด 6,842 ตัวอย่าง โดยเป็นด้วง 556 ตัวอย่าง (15 วงศ์) ผีเสื้อ 2,728 ตัวอย่าง (28 วงศ์) และเพลี้ยไฟ 3,558 ตัวอย่าง (1 วงศ์) แมลงทั้ง 3 อันดับมีวิธีการเก็บรักษาดังนี้ด้วงและผีเสื้อเก็บรวบรวมได้ 2 วิธีการ ได้แก่ ใช้สวิงจับแมลงและวิธีการใช้กับดักแสงไฟ (light trap) สำหรับตัวอ่อนเก็บรักษาในแอลกอฮอล์ 80% ด้วงตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ฆ่าในขวดฆ่า นำจัดรูปร่างบนไม้จัดรูปร่างตัวอย่างแมลง โดยใช้เข็มไร้สนิมปักที่มุมด้านหน้าของปีกขวา จัดขาทั้ง 3 คู่ให้อยู่ในลักษณะเกาะหรือเดิน ตัวเต็มวัยขนาดเล็กติดบนกระดาษแข็งรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ส่วนผีเสื้อกลางวันฆ่าโดยวิธีบีบอก (ผีเสื้อกลางวัน) แต่ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ฆ่าโดยใช้เข็มฉีดยาบรรจุ ethyl acetate ที่บริเวณอกด้านล่าง ผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กฆ่าในขวดฆ่า นำจัดรูปร่างบนไม้จัดรูปร่างตัวอย่างแมลง โดยใช้เข็มไร้สนิมปักบริเวณกลางอก จัดปีกให้กางออกโดยให้ขอบล่างของปีกคู่หน้าตั้งฉากกับลำตัว ขอบบนของปีกคู่หลังอยู่ใต้ขอบล่างของปีกคู่หน้า นำตัวอย่างด้วงและผีเสื้อที่จัดรูปร่างแล้วอบให้แห้งในตู้อบแมลงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 - 60 วัน และสำหรับเพลี้ยไฟมีวิธีการเก็บรวบรวม โดยใช้พู่กันเขี่ยเพลี้ยไฟตัวอ่อนและตัวเต็มวัยแต่ละตัวลงในขวด ที่บรรจุน้ำยา AGA หรือโดยวิธีเขย่าส่วนของพืชให้เพลี้ยไฟตกลงกระดาษที่รองรับแล้วใช้ใช้พู่กันเขี่ยลงในน้ำยา AGA จากนั้นนำตัวอย่างเพลี้ยไฟไปทำสไลด์ถาวรและอบให้แห้งในตู้อบแมลงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 15 - 50 วัน
|