ศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ท้องถิ่น Steinernema siamkayai ในการเข้าทำลาย
#1
ศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ท้องถิ่น Steinernema siamkayai ในการเข้าทำลายแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำ
วิไลวรรณ เวชยันต์ และสาทิพย์ มาลี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ดำเนินการทดลองที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2553 แบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ 

1. คัดเลือกและพัฒนาไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ท้องถิ่น Steinernema siamkayai พบว่า จากการคัดเลือกไส้เดือนฝอยจำนวน 7 ประชากร มีเพียง 3 ประชากรที่มีความแข็งแรงสามารถผ่านเข้าสู่ผนังลำตัวแมลงสำเร็จเท่ากับ 22, 41 และ 75 ตัว โดยพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเพศเมียเท่ากับ 17, 30 และ 48 ตัว และพัฒนาเป็นเพศผู้เท่ากับ 5, 11 และ 27 ตัวต่อหนอน 1 ตัว ตามลำดับ 

2. ทดสอบประสิทธิภาพการเข้าทำลายแมลงของไส้เดือนฝอย Steinernema siamkayai, Steinernema riobrave และ Steinernema carpocapsae กับหนอนกินรังผึ้งวัย 6 หนอนกระทู้ผักวัย 3 และหนอนใยผัก พบว่า ไส้เดือนฝอย Steinernema riobrave มีประสิทธิภาพในการเข้าทำลายแมลงสูงกว่า Steinernema siamkayai อย่างมีนัยสำคัญที่อุณหภูมิ 20, 25 30 และ 35 องศาเซลเซียส และ Steinernema carpocapsae ไม่สามารถเข้าทำลายแมลงได้ที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเข้าทำลายหนอนกินรังผึ้ง และหนอนกระทู้ผักของไส้เดือนฝอย Steinernema siamkayai, Steinernema riobrave และ Steinernema carpocapsae คือ 25, 30 และ 25 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นของไส้เดือนฝอย Steinernema siamkayai ในการทำให้หนอนกระทู้ผักวัย 3 น้ำหนัก 4 และ 8 มิลลิกรัม ตาย 50 เปอร์เซ็นต์ (LC50) มีค่าเท่ากับ 37.70 ตัวต่อหนอน 1 ตัว และ 61.10 ตัวต่อหนอน 1 ตัว และค่าความเข้มข้นของไส้เดือนฝอย Steinernema siamkayai, Steinernema riobrave และ Steinernema carpocapsae ในการทำให้หนอนใยผักตาย 50 เปอร์เซ็นต์ (LC50) หลังจากทดสอบ 48 ชั่วโมง คือ 75.19, 1.73 และ 3.49 ตัวต่อหนอนใยผัก 1 ตัว ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   1632_2553.pdf (ขนาด: 142.83 KB / ดาวน์โหลด: 1,321)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม