การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระบบการปลูกข้าวสลับพืชตระกูลถั่วโดยวิธีการจัดการปุ๋ย
#1
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระบบการปลูกข้าวสลับพืชตระกูลถั่วโดยวิธีการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม
มนต์ชัย มนัสสิลา, อมรรัตน์ ใจยะเสน, จิตรา เกาะแก้ว, กิตจเมธ แจ้งศิริกุล, รัตน์ติยา พวงแก้ว, ศิวกร เกียรติมณีรัตน์, ฉัตรชีวิน ดาวใหญ่ และวิลัยรัตน์ แป้นแก้ว
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท

          ศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วหลังนาต่ออัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวดินร่วนปนทรายในดินร่วนปนทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการปลูกถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ในนาข้าวในดินร่วนปนทรายในแปลงของศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ โดยดำเนินการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ในนาข้าวในดินร่วนปนเหนียวถึงดินเหนียวในแปลงของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท โดยการปลูกถั่วเขียวผิวมันพันธุ์ 84-1 ครั้งที่ 1 ในปี 2561 เพื่อศึกษาการจัดการปุ๋ยในระบบการปลูกถั่วหลังนา วางแผนการทดลองแบบ Split plot มี 4 ซ้ำ ปัจจัยหลัก คือ การจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วหลังนา 3 กรรมวิธี ได้แก่ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี (N-P-K) และไม่ใส่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม 2) ใส่ปุ๋ยเคมี (N-P-K) ตามค่าวิเคราะห์ดิน และไม่ใส่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม 3) ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชตามค่าวิเคราะห์ดิน (P-K) และใส่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ปัจจัยรอง คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว 4 อัตรา ได้แก่ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 2) ลดปุ๋ยไนโตรเจน 50% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน 3) ลดปุ๋ยไนโตรเจน 75% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 4) ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนตามอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน

          ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชตามค่าวิเคราะห์ดินและคลุกเมล็ดถั่วลิสงด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของลำต้นถั่วลิสงมีค่ามากที่สุด และมีแนวโน้มให้น้ำหนักต้นสดและผลผลิตต่อไร่สูงกว่าทุกกรรมวิธี นอกจากนี้ยังให้ค่า VCR สูงที่สุด การสะสมฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในเมล็ด ต้นและใบ พบมากที่สุดในกรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ย N-P-K ในเปลือกฝัก และราก พบมากที่สุดในกรรมวิธีที่ 3 ใส่ปุ๋ย P-K และใส่ไรโซเบียม การเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกตามกรรมวิธีต่าง ความสูงต้นข้าว จำนวนเมล็ดดีต่อรวง เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบ และน้ำหนักสดต้นและใบ ของกรรมวิธีที่มีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนร้อยละ 50 ของอัตรแนะนำ มีค่ามากที่สุด กรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้น้ำหนัก 100 เมล็ดมากที่สุด ส่วนกรรมวิธีใช้ปุ๋ยไนโตรเจนร้อยละ 25 ของอัตราแนะนำให้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าทุกกรรมวิธีมีจำนวนต้นต่อกอ จำนวนรวงต่อกอ ที่ 1 ต้น และ 1 รวง ตามลำดับ การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้อัตราส่วนระหว่างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ปุ๋ยต่อรายจ่ายจากการใช้ปุ๋ย หรือค่า Value to Cost Ratio (VCR) พบว่าการปลูกถั่วลิสงปีแรก ในทุกกรรมวิธีให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน เนื่องจากมีค่า VCR สูงสุดเพียง 0.91 ในกรรมวิธีปลูกถั่วลิสงใส่ปุ๋ย P K และใส่ไรโซเบียม ส่วนการปลูกข้าวหอมดอกมะลิ 105 ในทุกกรรมวิธีให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน เนื่องจากมีค่า VCR สูงสุดเพียง 0.35 ในกรรมวิธีปลูกถั่วลิสงไม่ใส่ปุ๋ย NPK ไม่ใส่ไรโซเบียม และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนร้อยละ 25 ตามค่าวิเคราะห์ดิน

          การใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชตามค่าวิเคราะห์ดินและคลุกเมล็ดถั่วเหลืองด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม มีผลให้น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของปม และน้ำหนักสดของลำต้นถั่วเหลืองมีค่ามากที่สุด ส่วนความสูงต้น จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อต้น น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของต้น ราก เปลือกฝัก และเมล็ด รวมถึงน้ำหนักต้นสดต่อไร่ และผลผลิตต่อไร่ในแต่ละกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การใส่ปุ๋ย N-P-K ตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกถั่วทำให้ไนโตรเจนทั้งหมดและแมกนีเซียมทั้งหมดในเมล็ดถั่วเหลืองมีค่ามากที่สุด ส่วนฟอสฟอรัสทั้งหมดในเปลือกฝักของกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมมีมากกว่ากรรมวิธีที่ใส่ N-P-K ในขณะที่การใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมทำให้โพแทสเซียมทั้งหมดในรากและแคลเซียมทั้งหมดในต้นใบมีค่ามากที่สุด

          ความสูงของต้นข้าว จำนวนต้นต่อกอ และจำนวนรวงต่อกอ ในทุกกรรมวิธีที่เป็นผลจากการจัดการปุ๋ยในการผลิตถั่วเหลืองไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปลูกถั่วเหลืองปีแรกโดยการใส่ปุ๋ย N-P-K หรือการใส่ปุ๋ย P-K ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนในดินร่วนปนทรายของศูนย์วิจัยพืชไร่เขียงใหม่ ส่วนการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 หลังจากการปลูกถั่วเหลืองแบบไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและไม่คลุกไรโซเบียม โดยใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวเพียง 50% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินมีค่า VCR เท่ากับ 2.09 จึงให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน

          ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทชตามค่าวิเคราะห์ดินและคลุกเมล็ดถั่วเขียวด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม มีผลให้น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของปม และน้ำหนักสดของลำต้นถั่วเขียวมีค่ามากที่สุด ส่วนความสูงต้น จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อต้น น้ำหนักแห้งของต้น น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของ ราก เปลือกฝัก และเมล็ด รวมถึงน้ำหนักต้นสดต่อไร่ และผลผลิตต่อไร่ในแต่ละกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การใส่ปุ๋ย P-K ตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใส่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมสำหรับการปลูกถั่วทำให้ไนโตรเจนทั้งหมดในเมล็ดมีค่ามากที่สุด ส่วนฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียมในเมล็ด ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ในขณะที่ แคลเซียมในเมล็ดของกรรมวิธีที่ไม่มีการใส่ปุ๋ย มีค่าน้อยกว่ากรรมวิธีที่มีการใส่ปุ๋ย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โพแทสเซียมทั้งหมดในรากและแคลเซียมทั้งหมดในต้นใบของกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยปุ๋ย P-K ตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใส่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมมีค่ามากที่สุด

          ความสูงของต้นข้าว จำนวนต้นต่อกอ และจำนวนรวงต่อกอ ในทุกกรรมวิธีที่เป็นผลจากการจัดการปุ๋ยในการผลิตถั่วเขียวไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปลูกถั่วเขียวปีแรกโดยการใส่ปุ๋ย N-P-K หรือการใส่ปุ๋ย P-K ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนในดินร่วนปนเหนียวถึงดินเหนียวของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ส่วนการปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ กข 41 หลังจากการปลูกถั่วเขียวทั้ง 3 กรรมวิธีให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่การลงทุนโดยขึ้นอยู่กับการจัดการปุ๋ยไนโตรเจนการปลูกข้าว ซึ่งกรรมวิธีที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากทร่สุดได้แก่ แปลงที่เคยปลูกถั่วเขียวใส่โดยการใส่ P K ร่วมกับการเมล็ดด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเมื่อปลูกข้าวโดยมีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 25% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินมีค่า VCR 9.45


ไฟล์แนบ
.pdf   61_2561.pdf (ขนาด: 533.34 KB / ดาวน์โหลด: 736)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม