การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักปลอดภัยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักปลอดภัยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
รพีพร ศรีสถิตย์

          โครงการการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักปลอดภัยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตผักและในสิ่งแวดล้อม ทำการทดลองในแปลงเกษตรกร 71 ราย พื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครพนม อุดรธานี เมื่อปี 2559 - 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักปลอดภัยที่เหมาะสมในสภาพการผลิตของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินงานโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ร่วมกับสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และหน่วยงานในพื้นที่ วิธีดำเนินงาน ทำการศึกษาในผัก 5 ชนิดแบ่งเป็น 6 การทดลอง โดย 5 การทดลองแรก ศึกษาในพืชผัก ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี บวบหอม วางแผนการทดลองแบบ RCB 2 ซ้ำ 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบ ใช้แนวทางการผลิตผักแบบผสมผสาน มีการใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ บีที ไตรโคเดอร์มา ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงฯ กรรมวิธีเกษตรกร เป็นวิธีเดิมที่มีการใช้สารเคมี ในพืชบวบหอม กรรมวิธีทดสอบ ในบวบหอม กรรมวิธีทดสอบ มีใช้กับดักสารล่อแมลง เมทธิลยูจีนอล (methyl eugenol) ผสมสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 57%EC รวมตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ในผักกาดหอม เป็นการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตผักกาดหอมนอกฤดูที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทดลองในโรงเรือนเปิดข้างมุงมีหลังคาระบายอากาศ วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 ซ้ำ 4 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 พรางแสง 50% กรรมวิธีที่ 2 พรางแสง 50% + พ่นหมอก กรรมวิธีที่ 3 พลาสติกใส กรรมวิธีที่ 4 พลาสติกใส + พ่นหมอก ผลการทดลองพบว่า ในผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี กรรมวิธีทดสอบได้ผลดีกว่ากรรมวิธีเกษตรกร โดยได้เทคโนโลยีการจัดการด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้และหนอนใย ได้แก่ การไถตากดิน7-10 วัน เพื่อกำจัดไข่และตัวอ่อน ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 กับดัก/ไร่ จากนั้นรดหรือพ่นไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย (Steinernema siamkayai KB Strain) อัตรา 300 ล้านตัว/ไร่ ก่อนและระหว่างการเพาะปลูกทุก 7 วัน รวม 5 - 7 ครั้ง (แหล่งระบาดมากต้องพ่นถี่) สามารถลดการระบาดของแมลงและได้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีรายได้และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าต่อการลงทุนได้ ในบวบหอมพบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร พร้อมทั้งลดการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ในระดับที่เกษตรกรพึงพอใจได้ สามารถแก้ไขปัญหาและยกระดับผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ของจังหวัดอุดรธานีได้ ผลวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิตของกรรมวิธีทดสอบในคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี และบวบหอมไม่พบสารพิษตกค้างหรือพบในระดับปลอดภัย ในผักกาดหอมพบว่า ให้ผลผลิตสูงที่สุดในในกรรมวิธีที่ 3 และกรรมวิธีที่ 4 116.82 - 123.08 กก./โรงเรือน (ขนาด 7 x 20 เมตร) ส่วนรอบการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม 2560 ผลผลิตในกรรมวิธีที่ 3 ให้ผลผลิตสูงที่สุด 202 กก./โรงเรือน รองลงมา คือ กรรมวิธีที่1 กรรมวิธีที่ 2 และกรรมวิธีที่ 4 โดยไม่แตกต่างกันทางสถิติ (167.22 182.91 201.82 กก./โรงเรือน) จากผลการทดลองนี้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการผลิตผักของตนเองได้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   48_2560.pdf (ขนาด: 2.89 MB / ดาวน์โหลด: 639)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม