02-17-2017, 01:47 PM
การขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธจากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ
วราพงษ์ ภิระบรรณ์, วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, จรัญ ดิษฐไชยวงศ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, สุดาวรรณ มีเจริญ และเสงี่ยม แจ่มจำรูญ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร
วราพงษ์ ภิระบรรณ์, วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, จรัญ ดิษฐไชยวงศ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, สุดาวรรณ มีเจริญ และเสงี่ยม แจ่มจำรูญ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร
การขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลคาแลนเธ (Calanthe spp.) จากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อศึกษาวิธีการและเทคนิคการขยายพันธุ์ของกล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธที่เหมาะสมจากชิ้นส่วนต่างๆ และเป็นการเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ดินสกุลคาแลนเธ ตั้งแต่ปี 2555 - 2557 โดยการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนของใบอ่อน ต้นอ่อน เนื้อเยื่อปลายยอดก้านช่อดอก เนื้อเยื่อก้านช่อดอกและตาที่ข้อก้านช่อดอกบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลง 2 สูตร คือ VW + BA 0.5 mg/L + NAA 2.0 mg/L และ VW + BA 2.0 mg/L + NAA 0.5 mg/L พบว่า ชิ้นส่วนตาที่ข้อก้านช่อดอกที่สมบูรณ์ที่เพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร VW + BA 2.0 mg/L + NAA 0.5 mg/L สามารถชักนำให้เกิดต้นอ่อนได้ 20% โดยจะเกิดเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายดอกเล็กๆสีขาวหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 8 สัปดาห์ แล้วจึงเจริญไปเป็นต้นอ่อนที่มีใบและรากที่สมบูรณ์หลังจากเพาะเลี้ยงได้ 24 สัปดาห์ ส่วนชิ้นส่วนเนื้อเยื่อปลายยอดและชิ้นส่วนเนื้อเยื่อก้านช่อดอกบางชิ้นส่วนจะมีการยืดตัวหรือมีลักษณะบวมในช่วง 4 - 8 สัปดาห์หลังจากเพาะเลี้ยง แล้วชิ้นส่วนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและตายหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 16 สัปดาห์ ชิ้นส่วนใบอ่อนจะเกิดสีน้ำตาลบริเวณรอยตัดหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 3 สัปดาห์ แล้วจะลามเข้าไปด้านในเรื่อยๆ และต่อมาชิ้นส่วนจะตายไปทั้งชิ้นหลังเพาะเลี้ยงได้ 12 สัปดาห์ จึงทำให้ชิ้นส่วนของใบอ่อน เนื้อเยื่อปลายยอด เนื้อเยื่อก้านช่อดอกและตาที่ข้อก้านช่อดอกที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถชักนำให้เกิดแคลลัสหรือต้นอ่อนได้ เมื่อเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลงทั้ง 2 สูตร และการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนต้นอ่อนบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลงทั้ง 2 สูตรนั้นมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อน เนื่องจากชิ้นส่วนได้จากการแตกต้นใหม่ของกล้วยไม้สกุลคาแลนเธ ซึ่งเกิดในช่วงฤดูฝนและต้นมีลักษณะเป็นกาบใบซ้อนกันหลายๆ ชั้น ทำให้ชิ้นส่วนต้นอ่อนยากต่อการฟอกทำความสะอาด จึงต้องพัฒนาวิธีการทำความสะอาดเนื้อเยื่อก่อนการเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ