คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธจากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7)
+--- เรื่อง: การขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธจากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ (/showthread.php?tid=2283)



การขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธจากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ - doa - 02-17-2017

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธจากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ
วราพงษ์ ภิระบรรณ์, วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, จรัญ ดิษฐไชยวงศ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, สุดาวรรณ มีเจริญ และเสงี่ยม แจ่มจำรูญ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร

          การขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลคาแลนเธ (Calanthe spp.) จากเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อศึกษาวิธีการและเทคนิคการขยายพันธุ์ของกล้วยไม้ดินสกุลคาเเลนเธที่เหมาะสมจากชิ้นส่วนต่างๆ และเป็นการเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ดินสกุลคาแลนเธ ตั้งแต่ปี 2555 - 2557 โดยการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนของใบอ่อน ต้นอ่อน เนื้อเยื่อปลายยอดก้านช่อดอก เนื้อเยื่อก้านช่อดอกและตาที่ข้อก้านช่อดอกบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลง 2 สูตร คือ VW + BA 0.5 mg/L + NAA 2.0 mg/L และ VW + BA 2.0 mg/L + NAA 0.5 mg/L พบว่า ชิ้นส่วนตาที่ข้อก้านช่อดอกที่สมบูรณ์ที่เพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร VW + BA 2.0 mg/L + NAA 0.5 mg/L สามารถชักนำให้เกิดต้นอ่อนได้ 20% โดยจะเกิดเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายดอกเล็กๆสีขาวหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 8 สัปดาห์ แล้วจึงเจริญไปเป็นต้นอ่อนที่มีใบและรากที่สมบูรณ์หลังจากเพาะเลี้ยงได้ 24 สัปดาห์ ส่วนชิ้นส่วนเนื้อเยื่อปลายยอดและชิ้นส่วนเนื้อเยื่อก้านช่อดอกบางชิ้นส่วนจะมีการยืดตัวหรือมีลักษณะบวมในช่วง 4 - 8 สัปดาห์หลังจากเพาะเลี้ยง แล้วชิ้นส่วนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและตายหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 16 สัปดาห์ ชิ้นส่วนใบอ่อนจะเกิดสีน้ำตาลบริเวณรอยตัดหลังจากเพาะเลี้ยงได้ 3 สัปดาห์ แล้วจะลามเข้าไปด้านในเรื่อยๆ และต่อมาชิ้นส่วนจะตายไปทั้งชิ้นหลังเพาะเลี้ยงได้ 12 สัปดาห์ จึงทำให้ชิ้นส่วนของใบอ่อน เนื้อเยื่อปลายยอด เนื้อเยื่อก้านช่อดอกและตาที่ข้อก้านช่อดอกที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถชักนำให้เกิดแคลลัสหรือต้นอ่อนได้ เมื่อเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลงทั้ง 2 สูตร และการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนต้นอ่อนบนอาหารสังเคราะห์ VW ดัดแปลงทั้ง 2 สูตรนั้นมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อน เนื่องจากชิ้นส่วนได้จากการแตกต้นใหม่ของกล้วยไม้สกุลคาแลนเธ ซึ่งเกิดในช่วงฤดูฝนและต้นมีลักษณะเป็นกาบใบซ้อนกันหลายๆ ชั้น ทำให้ชิ้นส่วนต้นอ่อนยากต่อการฟอกทำความสะอาด จึงต้องพัฒนาวิธีการทำความสะอาดเนื้อเยื่อก่อนการเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ