วิจัยและพัฒนามะขามเปรี้ยว
#1
วิจัยและพัฒนามะขามเปรี้ยว
สมพงษ์ สุขเขตต์, สุดใจ ล้อเจริญ, สุภาวดี สมภาค, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, ดรุณี สมณะ, จรัญ ดิษฐไชยวงค์, ณรงค์ แดงเปี่ยม และเบญจวรรณ สุรพล

          การวิจัยและพัฒนามะขามเปรี้ยว ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่น และการคัดเลือกสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง กิจกรรมที่ 1 การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่น มี 2 การทดลอง คือ การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่นเพื่อการแปรรูป และการเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ ผลการทดลองพบว่า พันธุ์มะขามเปรี้ยว 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ศรีสะเกษ 045 พันธุ์ศรีสะเกษ 019 และพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ฝักใหญ่กาญจนบุรี และพันธุ์ฝักใหญ่ศรีสะเกษ มีการเจริญเติบโตของเส้นรอบวงโคนต้น ความสูงต้น และขนาดทรงพุ่มสูงสุด เมื่ออายุ 4 ปี และได้ขยายระยะเวลาการทดลองอีก 4 ปี (ปี 2559 - 2562) เพื่อประเมินข้อมูลผลผลิตและคุณภาพ กิจกรรมที่ 2 การคัดเลือกสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง ทำการรวบรวมมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง จำนวน 16 สายต้น จากแหล่งปลูก 4 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี จากการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญพบว่า ต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง จากแหล่งปลูกอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ให้ปริมาณวิตามินซีสูงสุด (2.49 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 100 กรัม) สูงกว่ามะขามเปรี้ยวทั่วไป 48 เปอร์เซ็นต์ และจากแหล่งปลูกอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ให้ปริมาณแอนโธไซยานินสูงสุด (433.36 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 1 กิโลกรัม) ซึ่งสูงกว่ามะขามเปรี้ยวทั่วไป 100 เปอร์เซ็นต์ สายต้น PC5811 มีการพัฒนาทางสรีรวิทยา ได้แก่ การเปลี่ยนสีของยอดเป็นสีแดง การออกดอกและติดฝักก่อนสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดงสายต้นอื่นๆ


ไฟล์แนบ
.pdf   131_2558.pdf (ขนาด: 927.3 KB / ดาวน์โหลด: 9,184)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม