การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักเพื่อการส่งออก
#1
การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักเพื่อการส่งออก
เพทาย กาญจนเกษร

          การผลิตมะเขือเปราะ ผักชีไทย และมะระจีน เป็นพืชผักสวนครัวที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและประเทศในแถบเอเชีย เกษตรกรมีความนิยมในการผลิตแพร่หลายทั่วประเทศแต่ยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสม เกษตรกรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากส่งผลให้เกิดการตกค้างในผลผลิตส่งออก นอกจากนั้นแล้วยังพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และการติดไปของแมลงศัตรูพืชในผลผลิตสดที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งการผลิตพืชผักเพื่อการส่งออกนั้นมีความแตกต่างกับการผลิตพืชผักทั่วไปที่ไม่ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพในการรับซื้อผลผลิต ดังนั้นเกษตรกรต้องผลิตพืชผักให้มีความสมบูรณ์ของพืชปลูก ไม่มีสารเคมีตกค้าง ตลอดจนการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และการติดไปของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญต่อการส่งออก ดังนั้นจึงทำการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืชผักเพื่อการส่งออก ประกอบด้วยกิจกรรมการทดลอง 3 กิจกรรม ได้แก่ การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเปราะเพื่อการส่งออก การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตผักชีไทยเพื่อการส่งออก และการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตมะระจีนเพื่อการส่งออก ดำเนินการในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม ระหว่างปี 2557 - 2558 เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง และจุลินทรีย์ปนเปื้อนในการผลิตมะเขือเปราะ ผักชีไทย และมะระจีนเพื่อการส่งออก จากการศึกษาพบว่า ในการผลิตมะเขือเปราะควรใช้ระยะปลูก 100 x 100 เซนติเมตร และระยะ 50 x 50 เซนติเมตร และให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช สำหรับการป้องกันกำจัดหนอนเจาะผลนั้นควรใช้ตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำหรับการผลิตผักชีไทยพบว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่แตกต่างกันมีการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน และการใช้ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ดินก่อนปลูกให้ผลผลิตสูงกว่าการปฏิบัติของเกษตรกร สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบนั้นเกษตรกรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ส่วนการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตมะระจีนเพื่อการส่งออกนั้นพบว่า การใช้ปุ๋ยในสัดส่วนเช่นเดี่ยวกับค่าวิเคราะห์ดินต้นมีการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตที่ดี สำหรับการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟนั้นเกษตรกรควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งให้ผลในการดำเนินงานดีกว่าวิธีการปฏิบัติของเกษตรกร


ไฟล์แนบ
.pdf   119_2558.pdf (ขนาด: 2.14 MB / ดาวน์โหลด: 1,009)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 6 ผู้เยี่ยมชม