เทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศ
#1
เทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศ
เสาวนี เขตสกุล, จิรภา ออสติน, รัชนี ศิริยาน, อรรถพล รุกขพันธ์, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, วิมล แก้วสีดา, ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล, จันทนา โชคพาชื่น, สุภาวดี สมภาค, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, วิมล แก้วสีดา และวัชรพล บำเพ็ญอยู่

          โครงการเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพันธุ์รับประทานสดผลเล็กและผลใหญ่ สายพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสม เพื่อได้ลักษณะที่ต้องการ ที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี ผลผลิตสูง รสชาติดี ใช้บริโภคสด และใช้ประกอบอาหาร ทนทานโรค เหมาะสำหรับปลูกในฤดูฝน คุณภาพดี มีความแน่นเนื้อ มีสารสำคัญ อาทิ สารไลโคพีน เบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง การปรับปรุงเขตกรรมและการจัดการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมะเขือเทศที่มีคุณภาพในฤดูฝนที่เหมาะสม เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป จากการสำรวจและจำแนกพันธุ์มะเขือเทศ สามารถแบ่งมะเขือเทศออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเชอรี กลุ่มสีดา กลุ่มรับประทานสดผลใหญ่ กลุ่มแปรรูป และกลุ่มต้นตอ และจากการทดสอบสมรรถนะการรวมตัวเฉพาะ (Specific Combining Ability; SCA) ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเชอรี ได้แก่ คู่ผสม 036-8 x041 036-8 x 396 186 x 002-6 362-1 x 041 และ 448 x 041 และกลุ่มแปรรูป ได้แก่ คู่ผสม 045 x 017-1 045-6X033-6-2 398X409, 402X398 และ 402 x 403 การคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสดผลเล็ก (สีดา) คัดได้ 5 รหัสพันธุ์ คือ 101-2-8-7-4-6 108-2-4(1)-2-2-2 108-8-3-1-6-2 156-1-3-2-4-1 และ 297-5-7-2-3-5 การทดสอบสายพันธุ์ลูกผสมมะเขือเทศรับประทานสดผลเล็กในแหล่งต่างๆ พบว่า คู่ผสม 448 X 041 และคู่ผสม 036-8 X 041 เหมาะสมต่อการปลูกในฤดูฝน การคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสดผลใหญ่ คัดได้ 5 รหัสพันธุ์ คือ 91-10-1-8-7-9 159-13-3-10-8-9 160-2-7-8-1-3 160-2-7-8-8-6 และ 160-5-3-3-7-8 การทดสอบสายพันธุ์ลูกผสมมะเขือเทศรับประทานสดผลใหญ่ในแหล่งต่างๆ พบว่า คู่ผสม 398X409 และ 403X402 เหมาะสมต่อการปลูกในฤดูฝน การคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศที่มีปริมาณเบต้าแคโรทีน และไลโคปีนสูง พบว่ารหัสพันธุ์ 126-1 และ 299 มีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูง รหัสพันธุ์ 126-1 303 และ 337 มีปริมาณไลโคปีนสูง และรหัสพันธุ์ 126-1 มีทั้งปริมาณเบต้าโรทีน และไลโคปีนสูง การคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศต้านทานโรคเหี่ยวเขียวและการใช้เครื่องหมายโมเลกุลเพื่อคัดเลือกพันธุ์ต้านทาน จากมะเขือเทศที่มีสารเบต้าแคโรทีน และไลโคปีนสูง พบว่าทุกสายพันธุ์อํอนแอต่อเชื้อโรคเหี่ยวเขียว และนำรุ่นลูกที่เกิดจากการผสมตัวเองของต้นต้านทานมาทดสอบความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียวพบว่า มะเขือเทศมีความต้านทานเพิ่มขึ้นอยูํในระดับเดียวกับพันธุ์ H7996 ซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทาน การเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยเครื่อง PCR โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล SCAR สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอมะเขือเทศต้นต้านทานได้ 1 เครื่องหมาย โดยปรากฏแถบดีเอ็นเอขนาด 200 bp. จำนวน 13 ต้น การเปรียบเทียบความต้านทานโรคใบหงิกเหลืองในมะเขือเทศ (TYLCV) พบว่า พันธุ์ CLN 3078 C CLN 2071 D และพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ มีความต้านทานต่อ TYLCV มากกว่าทุกสายพันธุ์ จากการทดสอบในสภาพแปลงปลูกในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดศรีสะเกษพบว่า พันธุ์ CLN 3078 C มีความต้านทานต่อเชื้อ TYLCV ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ และมะเขือเทศพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ มีความสามารถต้านทานเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบหงิกเหลืองได้สูงในระดับหนึ่ง จากการศึกษาต้นตอที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศในฤดูฝนพบว่า การเสียบยอดมะเขือเทศผลเล็ก (มะเขือเทศ ศก.19) และมะเขือเทศผลใหญ่ (ลูกผสมพันธุ์การค้า) โดยใช้ต้นตอมะเขือเปราะคางกบ มะเขือขื่นกรอบ และมะเขือพวง มีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง โดยมะเขือเทศผลเล็กพันธุ์ ศก.1 ศก.19 และมะเขือเทศพื้นเมือง ไม่เหมาะสมในการใช้เป็นต้นตอสำหรับมะเขือเทศผลใหญ่ การปลูกมะเขือเทศผลเล็กโดยการใช้ต้นตอจากมะเขือขื่นกรอบ ให้จำนวนผลต่อต้น น้ำหนักต่อต้น และน้ำหนักต่อไร่มากที่สุด การปลูกมะเขือเทศผลใหญ่โดยการใช้ต้นตอให้น้ำหนักผลผลิตต่อไร่ไม่แตกต่างกับการปลูกโดยไม่ใช้ต้นตอ มะเขือเปราะคางกบ และมะเขือขื่นกรอบ มีความเหมาะสมสำหรับใช้เป็นต้นตอ และแนะนำให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ต้นตอเชิงพาณิชย์ได้ พันธุ์มะเขือเทศที่ได้จากการทดลองทั้งหมด จะได้นำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศตามกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   118_2558.pdf (ขนาด: 5.37 MB / ดาวน์โหลด: 12,689)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม