การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขิงคุณภาพ
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขิงคุณภาพ
ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์, จิตอาภา ชมเชย, ศศิธร วรปิติรังสี, สนอง จรินทร, ไว อินต๊ะแก้ว, เสาวลักษณ์ บันเทิงสุข, พรอนันต์ แข็งขัน, สุรชาติ คูอาริยะกุล, วิมล แก้วสีดา, ทัศนีย์ ดวงแย้ม, สุภา สุขโชคกุศล และณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล
สถาบันวิจัยพืชสวน, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และสถาบันวิจัยพืชไร่

          โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตขิงคุณภาพ ทำการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตขิงคุณภาพ และศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ขิง เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตขิงให้ได้คุณภาพ ดำเนินการปี 2554 – 2558 พบว่า การจัดการโรคเหี่ยวขิงจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum แบบผสมผสาน โดยการปรับปรุงดิน (soil amendment) ด้วยการอบดินด้วย ยูเรีย:ปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดประชากรของแบคทีเรีย R. solanacearum ก่อนปลูกขิงและในระหว่างปลูกขิงร่วมกับการใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis ดินรากยาสูบ no.4 ในแปลงปลูก สามารถทำการปลูกขิงและเก็บผลผลิตขิงได้ 960 กิโลกรัมต่อไร่ และพบการเกิดโรคเหี่ยวในแปลง 60 เปอร์เซ็นต์ ในการปลูกขิงพื้นที่ปลูกเดิมในปีที่ 3 ขณะที่แปลงควบคุมพบการเกิดโรคถึง 100 เปอร์เซ็นต์และไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ นอกจากนี้การใช้พืชตระกูลกะหล่ำเป็นสารรมชีวภาพ และการอบดินด้วยแสงอาทิตย์นั้น พบว่าการใช้การอบดินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับการรมดินด้วยพืชตระกูลกะหล่ำ สามารถควบคุมการเกิดโรคเหี่ยวขิงได้นาน 90 วัน การสำรวจแมลงศัตรูขิงพบเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูขิงที่พบทั้งในแปลงปลูกและในแหล่งรับซื้อ ด้านการจัดการปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตและขนาดของหัวขิงพบว่า การใช้ปุ๋ย 46-0-0, 0-46-0 และ 0-0-50 อัตรา 60, 12 และ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตขิงเพิ่มขึ้น 10 - 25 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยลง 46 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเก็บรักษาหัวพันธุ์ขิงพบว่า การเก็บรักษาหัวพันธุ์ขิงโดยไม่มีวัสดุคลุม สามารถเก็บหัวพันธุ์ได้นาน 3 เดือน โดยมีอัตราการงอก 90 เปอร์เซ็นต์ และไม่พบการงอกของหัวพันธุ์ขิงที่เก็บรักษาตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

          การผลิตหัวพันธุ์ขิงเพื่อผลิตหัวพันธุ์ขิงให้ปลอดจากโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย R. solanacearum นั้น การใช้หัวพันธุ์ขิง (minirhizome) ที่ผลิตจากต้นกล้าขิงที่ได้จากการเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ระยะปลูก 10 x 15 เซนติเมตร และเก็บเกี่ยวอายุ 5 เดือน มาผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรค (G0) ใช้ระยะปลูก 20 x 25 ซม. และเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ (G0) ได้เมื่ออายุ 7 เดือน การผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรค (G1) ในสภาพไร่ และการผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรค (G2) ในแปลงเกษตรใช้เทคโนโลยีการจัดการโรคเหี่ยวขิงแบบผสมผสานและการจัดการปุ๋ยพบว่า หัวพันธุ์ขิง G1 และ G2 ที่ได้ตรวจไม่พบเชื้อโรคเหี่ยว และมีต้นทุนการผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรค (G1) 1.09 บาทต่อแง่ง และต้นทุนการผลิตหัวพันธุ์ขิงปลอดโรค (G2) ลดลงเหลือ 0.73 - 0.81 บาทต่อแง่ง แต่ยังเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหัวพันธุ์ที่เกษตรกรใช้


ไฟล์แนบ
.pdf   112_2558.pdf (ขนาด: 2.6 MB / ดาวน์โหลด: 4,897)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม