ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน
#1
ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน
สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ, วรัญญา มาลี, อลงกต โพธิ์ดี, คมศร แสงจินดา และชมัยพร บัวมาศ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          มะพร้าวอ่อน (Young coconut, Cocos nucifera Linn) เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีรสชาติที่หวานหอม ประเทศผู้ผลิตมะพร้าวที่สำคัญของทั่วโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ตามลำดับ สำหรับมะพร้าวอ่อนจากประเทศไทยมีปริมาณความต้องการในตลาดต่างประทศจำนวนมาก สามารถส่งออกไปขายได้มากถึง 45 ประเทศ จากสถิติการส่งออกมะพร้าวอ่อน ปี 2553 - 2555 ปริมาณ 37,081 - 46,089 ตัน คิดเป็นมูลค่า 412 - 2,203 ล้านบาท ประเทศส่งออกมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน ตามลำดับ มะพร้าวอ่อนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อยู่ในรูปผลสดปอกเปลือกส่วนที่เขียวออก แต่งให้สวยงามตามความต้องการของตลาด เช่น มะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และมะพร้าวหัวโต

          จากการรวบรวมข้อมูลโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญในประเทศไทย พบมีจำนวน 16 ชนิด ผลการสำรวจแปลงปลูกของเกษตรกร 3 แปลงในพื้นจังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร และสำรวจสถานที่คัดบรรจุ 1 แหล่งในจังหวัดราชบุรี พบว่าผลมะพร้าวมาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) การรับรองมาตรฐานตามระบบการเกษตรที่ดี (GMP) และผ่านกระบวนการคัดผลที่มีตำหนิและเป็นโรคออก การคัดขนาดคุณภาพตามมาตรฐานมะพร้าวอ่อน และบรรจุตามความต้องการของตลาด และเก็บไว้ในที่เย็นเพื่อการขนส่งขึ้นอยู่ระยะทาง เช่น อุณหภูมิ 7 - 10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 - 4 สัปดาห์ ส่วนกระบวนการรับรองสุขอนามัยพืชของผลมะพร้าวอ่อนส่งออกที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ มะพร้าวอ่อนของประเทศไทยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ใช้การจัดการในแปลงและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวในโรงบรรจุสินค้าก่อนส่งออก กรณีมะพร้าวอ่อนอินทรีย์ต้องตรวจสารพิษตกค้าง ส่วนมะพร้าวอ่อนจากฟิลิปปินส์ส่งออกไปยังออสเตรเลีย ซึ่งกำหนดให้มาจากพื้นที่ปลอดจากไวรอยด์ Cadang Cadang เป็นต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   228_2556.pdf (ขนาด: 286.09 KB / ดาวน์โหลด: 807)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม