คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2556 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=6)
+--- เรื่อง: ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน (/showthread.php?tid=1863)



ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน - doa - 10-11-2016

ศึกษามาตรการสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลมะพร้าวอ่อน
สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ, วรัญญา มาลี, อลงกต โพธิ์ดี, คมศร แสงจินดา และชมัยพร บัวมาศ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          มะพร้าวอ่อน (Young coconut, Cocos nucifera Linn) เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีรสชาติที่หวานหอม ประเทศผู้ผลิตมะพร้าวที่สำคัญของทั่วโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ตามลำดับ สำหรับมะพร้าวอ่อนจากประเทศไทยมีปริมาณความต้องการในตลาดต่างประทศจำนวนมาก สามารถส่งออกไปขายได้มากถึง 45 ประเทศ จากสถิติการส่งออกมะพร้าวอ่อน ปี 2553 - 2555 ปริมาณ 37,081 - 46,089 ตัน คิดเป็นมูลค่า 412 - 2,203 ล้านบาท ประเทศส่งออกมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน ตามลำดับ มะพร้าวอ่อนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อยู่ในรูปผลสดปอกเปลือกส่วนที่เขียวออก แต่งให้สวยงามตามความต้องการของตลาด เช่น มะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และมะพร้าวหัวโต

          จากการรวบรวมข้อมูลโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญในประเทศไทย พบมีจำนวน 16 ชนิด ผลการสำรวจแปลงปลูกของเกษตรกร 3 แปลงในพื้นจังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร และสำรวจสถานที่คัดบรรจุ 1 แหล่งในจังหวัดราชบุรี พบว่าผลมะพร้าวมาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) การรับรองมาตรฐานตามระบบการเกษตรที่ดี (GMP) และผ่านกระบวนการคัดผลที่มีตำหนิและเป็นโรคออก การคัดขนาดคุณภาพตามมาตรฐานมะพร้าวอ่อน และบรรจุตามความต้องการของตลาด และเก็บไว้ในที่เย็นเพื่อการขนส่งขึ้นอยู่ระยะทาง เช่น อุณหภูมิ 7 - 10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 - 4 สัปดาห์ ส่วนกระบวนการรับรองสุขอนามัยพืชของผลมะพร้าวอ่อนส่งออกที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ มะพร้าวอ่อนของประเทศไทยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ใช้การจัดการในแปลงและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวในโรงบรรจุสินค้าก่อนส่งออก กรณีมะพร้าวอ่อนอินทรีย์ต้องตรวจสารพิษตกค้าง ส่วนมะพร้าวอ่อนจากฟิลิปปินส์ส่งออกไปยังออสเตรเลีย ซึ่งกำหนดให้มาจากพื้นที่ปลอดจากไวรอยด์ Cadang Cadang เป็นต้น