เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังและการป้องกันกำจัด
#1
เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังและการป้องกันกำจัด
สุเทพ สหายา, พวงผกา อ่างมณี, ชมัยพร บัวมาศ และชลิดา อุณหวุฒิ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การจำแนกชนิดและการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ดำเนินการที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง แปลงเกษตรกรอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดต่างๆ ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 - กันยายน พ.ศ. 2553 ผลการสำรวจและจำแนกชนิดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง พบเพลี้ยแป้ง 4 ชนิด ได้แก่ เพลี้ยแป้งลาย; Ferrisia virgata (Cockerell) เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเทาหรือเพลี้ยแป้งแจ็คเบียสเล่ย์; Pseudococcus jackbeardleyi Gimpel & Miller เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว; Phenacoccus madeirensis Green และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู; Phenacoccus manihoti Matile and Ferrero

          การทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งโดยวิธีการแช่ท่อนพันธุ์ปี พ.ศ. 2552 ทดสอบทั้งในสภาพกึ่งเรือนทดลองและสภาพไร่พบว่า การแช่ท่อนพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนพร้อมปลูก 5 นาที ด้วยสารฆ่าแมลง thiamethoxam 25 %WG thiamethoxam 35 %FS clothianidin 16 %SG และ imidacloprid 60 %FS อัตรา 4 กรัม, 3 มิลลิลิตร และ 5 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ แช่ท่อนพันธุ์นาน 15 นาที มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้ประมาณ 1 เดือนเช่นเดียวกัน ทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังโดยวิธีพ่นทางใบในสภาพไร่พบว่า สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ได้แก่ thiamethoxa 25 %WG dinotefuran 10 %WP prothiofos 50 %EC pirimiphos methyl 50 %EC และ thiamethoxam/lambdacyhalothrin 14.1/10.6 %ZC อัตรา 4 กรัม, 20 กรัม, 50 มิลลิลิตร, 50 มิลลิลิตร และ 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ หรือการพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าวข้างต้นโดยลดอัตราลงครึ่งหนึ่งของการพ่นสารเดี่ยวปล้วผสมกับ white oil 67 %EC อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ในรูปแบบสารเสริมประสิทธิภาพ (Adjuvants) ก็มีประสิทธิภาพดีเช่นเดียวกัน ผลการทดลองสรุปได้ว่า การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังต้องแช่ท่อนพันธุ์ที่ตัดพร้อมปลูกด้วยสารฆ่าแมลงชนิดและอัตราแนะนำจะทำให้ลดการระบาดของเพลี้ยแป้งตั้งแต่เริ่มปลูก หลังปลูก 1 เดือน ให้สำรวจแปลงมันสำปะหลังโดยเน้นตามแนวขอบแปลงที่ติดกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากเพลี้ยแป้งเริ่มระบาดมาจากแปลงข้างเคียง ถ้าพบเพลี้ยแป้งให้ใช้วิธีกลคือ การตัดยอดที่พบไปทำลายนอกแปลง แล้วพ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดและอัตราแนะนำเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยแป้ง


ไฟล์แนบ
.pdf   1798_2553.pdf (ขนาด: 448.3 KB / ดาวน์โหลด: 1,164)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม