วิจัยและพัฒนาเครื่องมือตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
#1
วิจัยและพัฒนาเครื่องมือตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเงาะและทุเรียนคุณภาพ
ธนาวัฒน์ ทิพย์ชิต
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี

          ในการผลิตไม้ผล เช่น เงาะ และทุเรียน การตัดแต่งกิ่งมีความสำคัญมาก ซึ่งควรจะเริ่มทำตั้งแต่อายุพืช 2 - 3 ปี แรก คือการตัดแต่งทรงพุ่ม ในปัจจุบันนิยมตัดแต่งให้มีความสูง 4 - 5 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการดูแลอารักขาพืชในสวน ในปัจจุบันมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดแต่งกิ่งและค่าจ้างแรงงานมีราคาแพง ประกอบกับเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้สูงอายุ งานตัดแต่งกิ่งเป็นงานหนักงานหนึ่ง และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทุ่นแรงหลายอย่าง แต่ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของเกษตรกร

          ดังนั้นผู้วิจัยและคณะจึงได้วิจัยเครื่องมือตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลังที่ มีน้ำหนักเบา ด้ามจับสามารถยืดและหดได้ และใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานต้นกำลัง ทำให้สามารถ ทำงานได้สะดวกและรวดเร็ว

          เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลังต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมีมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 160 วัตต์ เป็นต้นกำลัง มีด้ามจับอลูมิเนียมยาว 4.5 เมตร โดยแบ่งเป็น 3 ท่อน ยาวท่อนละ 1.5 เมตร ใช้สายไฟขนาด 2.5 ตารางมิลลิเมตร และสวิตช์สำหรับไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ 5 แอมแปร์ ต้นแบบถูกพัฒนาขึ้น 2 แบบ คือ แบบเลื่อยวงเดือน ขนาด 7 นิ้ว 24 ฟัน ขับด้วยชุดเกียร์ทด ที่อัตราทด 1:3.6 และแบบเลื่อยชัก ขนาด 14 นิ้ว 5.5 ฟันต่อนิ้ว ขับด้วยชุดเกียร์ทด ที่อัตราทด 1:10 โดยมีกลไกลลูกเบี้ยวเป็นชุดควบคุมการเคลื่อนที่ พร้อมการ์ดป้องกันใบเลื่อย ผลการทดสอบ พบว่า เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยวงเดือน มีความสามารถในการทำงาน 180 กิ่งต่อชั่วโมง ที่ขนาด 2 นิ้ว ที่ความเร็วรอบ 5,500 รอบต่อนาที และเครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยชัก มีความสามารถในการทำงาน 180 ต่อชั่วโมง ที่ขนาด 2 นิ้ว ที่ความถี่ในการชัก 2,000 ครั้งต่อนาที เมื่อใช้แบตเตอร์รี่ขนาด 12 โวลต์ 5 แอมแปร์ จำนวน 2 ลูก สามารถทำงานต่อเนื่องได้ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง ถ้าเปลี่ยนใช้แบตเตอร์รี่ขนาด 12 โวลต์ 100 แอมแปร์ จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้นานกว่า 10 เท่า และระยะเวลาคืนทุนคือ 144 ชั่วโมง หรือ 18 วัน


ไฟล์แนบ
.pdf   37_2561.pdf (ขนาด: 1.97 MB / ดาวน์โหลด: 1,703)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม