การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์มันขี้หนู
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์มันขี้หนู
จิระ สุวรรณประเสริฐ

         ภายใต้โครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม กิจกรรมแรก คือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันขี้หนู เพื่อให้ได้เทคโนโลยีสำหรับการเพิ่มผลผลิตและสะดวกต่อการจัดการในการปลูกมันขี้หนู โดยมีทั้งหมด 4 การทดลอง คือ

          1. ผลของชนิด ความเข้มข้น และช่วงเวลาการใช้สารชะลอการเจริญเติบโต ต่ออายุเก็บเกี่ยวและการให้ผลผลิตของมันขี้หนู ใช้สารชะลอการเจริญเติบโต 2 ชนิดคือ paclobutazol และ mepiquat chloride โดยเริ่มจากการคัดเลือกความเข้มข้นและช่วงเวลาการฉีดพ่นเมื่อมันขี้หนูอายุแตกต่างกัน พบว่าการฉีดพ่นสารชะลอการเจริญเติบโตในการศึกษานี้ไม่ทำให้ทรงพุ่มมันขี้หนูก่อนเก็บเกี่ยวแตกต่างจากการไม่ฉีดพ่น ไม่มีผลทำให้อายุเก็บเกี่ยวลดลง และไม่ทำให้ผลผลิตแตกต่างไปจากการปลูกตามปกติ

          2. การตอบสนองต่อระดับปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในมันขี้หนู เป็นการศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยใส่ปุ๋ยไนตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 12 กก./ไร่ของ N-P2 O5 และ K2 O ในดินที่มีปริมาณธาตุอาหารสูงต่ำแตกต่างกัน 4 สถานที่ พบว่ามันขี้หนูสามารถให้ผลผลิตได้สูงสุด เมื่อได้รับปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 กก./ไร่ โดยที่ต้องได้รับปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอัตรา 8 กก./ไร่ด้วย แต่ถ้าฟอสฟอรัสที่ใช้ประโยชน์ได้ในดินมีอยู่ในระดับปานกลางถึงสูงก็สามารถใส่น้อยลงหรือไม่ใส่เลยได้ สำหรับปุ๋ยโพแทสเซียมพบว่า ถ้าในดินมีปริมาณโพแทสเซียมที่ใช้ประโยชน์ได้ที่ระดับมากกว่า 45 mg/kg ก็เพียงพอสำหรับมันขี้หนูที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 8 กก./ไร่

          3. การปลูกมันขี้หนูระยะชิดร่วมกับการใช้สารชะลอการเจริญเติบโต เมื่อเลือกใช้สาร paclobutazol ที่ความเข้มข้นอัตรา 400 ppm ฉีดพ่นมันขี้หนูที่ปลูกโดยการใช้ยอดปักชำและมีระยะปลูกที่แคบกว่าระยะ 1 X 1 เมตรตามปกติ พบว่าการใช้ระยะปลูก 75 X 75 ซ.ม. และ 60 X 60 ซ.ม.เป็นระยะปลูกที่ให้ผลผลิตได้สูงกว่าการปลูกตามระยะปกติ การฉีดพ่นสารชะลอการเจริญเติบโต paclobutazol ไม่ทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่า อย่างแตกต่างทางสถิติกับการไม่ใช้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองที่ 1

          4. อิทธิพลของวันปลูกต่อการเจริญเติบโตทางลำต้น การสร้างหัว และการให้ผลผลิตของมันขี้หนู เพื่อต้องการศึกษาผลของการปลูกในเดือนต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยเริ่มต้นในกลางเดือนมกราคม 2559 แต่ภาวะน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดพัทลุงในเดือนธันวาคม 2559 ทำให้ได้ข้อมูลการให้ผลผลิตเพียงแค่ของการปลูก ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งพบว่าการเจริญเติบโตทางลำต้นเป็นไปตามปกติ โดยการปลูกในเดือนพฤษภาคมมีการเจริญเติบโตทางลำต้นใน 3 เดือนแรกดีกว่าการปลูกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน การปลูกในเดือนมกราคมมีแนวโน้มของการให้ผลผลิตหัวรวมทุกขนาดได้ดีกว่าการปลูกในเดือนอื่นๆ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถปลูกมันขี้หนูได้ตลอดทั้งปีหากมีการบริหารจัดการแปลงและการให้น้ำที่หมาะสม

          กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งมันขี้หนู ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและคุณภาพแป้งมันขี้หนู และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งมันขี้หนูระดับอุตสาหกรรม โดยได้นำหัวมันขี้หนูสดที่เก็บรวบรวมมาจาก 10 แหล่ง มาทำแป้งฟลาวที่มีความละเอียด ขนาดไม่เกิน 150 mesh ผลวิเคราะห์คุณภาพของแป้งฟลาวพบว่า มีปริมาณโปรตีนประมาณ 2 - 5 เปอร์เซ็นต์ มีอมิโลสต่ำประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ค่าความหนืดแป้งสุกสูงสุดค่อนข้างต่ำประมาณ 50 BU เปอร์เซ็นต์สตาร์ชประมาณ 15 - 25 เปอร์เซ็นต์ จากองค์ประกอบทางเคมีหรือคุณภาพแป้ง สามารถบอกให้รู้ว่าเป็นแป้งที่มีความนิ่มเมื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความข้น นิ่ม เหมาะที่จะทำอาหารประเภทกวน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตมันขี้หนูด้วยการใช้แป้งฟลาวมาทดลองทำเป็นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ชนิดต่างๆ โดยทำการปรับปรุงส่วนผสม พบว่าแป้งฟลาวมันขี้หนูสามารถทำอาหารประเภทเบเกอรี่ เช่น เค้ก ทองม้วน และบราวนี่ได้โดยที่คุณภาพไม่ต่างไปจากการใช้แป้งสาลี ถึงแม้จะใช้แป้งมันขี้หนูทดแทนถึง 100 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   29_2560.pdf (ขนาด: 1.11 MB / ดาวน์โหลด: 1,547)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม