11-29-2016, 10:15 AM
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มแขกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สโรชา ถึงสุข, อนงค์นาฏ พรหมทะสาร, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์ ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย, ณัฎฐา ดีรักษา, โนรี อิสมาแอ และนาตยา ดำอำไพ
สโรชา ถึงสุข, อนงค์นาฏ พรหมทะสาร, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์ ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย, ณัฎฐา ดีรักษา, โนรี อิสมาแอ และนาตยา ดำอำไพ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มแขกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเริ่มการทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 - 2558 งานที่ทำการวิจัย คือ สำรวจการกระจายพันธุ์ส้มแขกจากแหล่งต่างๆ คือ จ.ภูเก็ต, พังงา, นครศรีธรรมราชและกระบี่ ด้วยวิธีการสุ่มแหล่งปลูกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) ซึ่งจากการสำรวจพบส้มแขก 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 คือ Garcinia atroviridis ผลคล้ายฟักทองขนาดเล็กพบมากในจังหวัดปัตตานี, นราธิวาสและยะลา ลักษณะที่ 2 คือ Garcinia pedunculata ผลคล้ายผลฝรั่งมีพูแต่เห็นไม่ชัดเจน สำรวจพบที่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา และอำเภอถลาง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จากนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ตคัดเลือกต้นส้มแขกพันธุ์ดีจาก 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช และกระบี่ จังหวัดละ 2 ต้น ซึ่งส้มแขกพันธุ์ดีที่มีลักษณะเป็นแบบที่ 2 คือ Garcinia pedunculata วางแผนการทดลองแบบ RCB มีจำนวน 8 กรรมวิธี 10 ซ้ำ มีระยะปลูก 8x8 เมตร รวมพื้นที่ปลูก 3.5 ไร่ โดยปลูกเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 การเจริญเติบโตหลังปลูก 3 ปี ต้นส้มแขกมีความสูงตั้งแต่ 64.25 - 124.67 เซนติเมตร กรรมวิธีที่มีการเจริญเติบดีที่สุด คือ กรรมวิธีที่ 6 คือ ต้นส้มแขกของคุณณัฐมน จังหวัดภูเก็ต มีความสูงของต้นเฉลี่ยสูงสุด คือ 124.67 เซนติเมตร และจากการศึกษาความแตกต่างของพันธุ์ส้มแขกทั้ง 8 กรรมวิธี โดยเทคนิค AFLP สามารถใช้ในการจัดจำแนกพันธุกรรมของส้มแขกได้ ผลที่ได้ คือ ทั้ง 8 กรรมวิธี ไม่มีความแตกต่างกันในแต่ละต้น แสดงว่าส้มแขกมีพันธุกรรมเดียวกัน
การศึกษาปริมาณสารสำคัญ คือ กรดไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิค (HCA) ในส้มแขกพบว่า ส้มแขก Garcinia pedunculata มีสารไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิค (HCA) ตั้งแต่ 184.88 - 245.34 มิลลิกรัมต่อกรัม โดยกรรมวิธีที่ 7 คือ ส้มแขกของคุณสุนทร จังหวัดพังงามีปริมาณกรดไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิคสูงที่สุด คือ 245.34 มิลลิกรัมต่อกรัม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ศึกษาปริมาณสาร HCA ในส้มแขก Garcinia atroviridis พบว่า ผลสดมีปริมาณสาร HCA อยู่ในช่วง 39.71 - 46.88 มิลลิกรัมต่อกรัม เฉลี่ย 45.48 มิลลิกรัม/กรัม แต่ผลแห้ง 1 ปี มีปริมาณสาร HCA เฉลี่ย 211.96 มิลลิกรัม/กรัม และผลแห้งเก็บรักษาเกิน 1 มีปริมาณสาร HCA เฉลี่ย 225.76 มิลลิกรัม/กรัม จะเห็นว่าผลส้มแขกสดมีปริมาณสาร HCA น้อยที่สุด ส่วนการนำผลส้มแขกไปตากแห้งจะทำให้ปริมาณสาร HCA เพิ่มขึ้นแต่ไม่แตกต่างกันหลังจากที่เกินรักษาเป็นเวลา 1 ปี และนานเกิน1 ปี ผลส้มแขกสดจากจังหวัดยะลามีปริมาณสาร HCA สูงที่สุด 51.35 มิลลิกรัม/กรัม และผลส้มแขกสดจังหวัดนราธิวาสมีปริมาณสาร HCA น้อยที่สุด 41.59 มิลลิกรัม/กรัม ส่วนผลส้มแขกแห้งของจังหวัดนราธิวาสมีปริมาณสาร HCA สูงที่สุด 275.00 มิลลิกรัม/กรัม และจังหวัดสตูลที่มีสาร HCA น้อยที่สุด 184.70 มิลิลิกรัม/กรัม
การศึกษาสภาพการผลิตส้มแขกในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยวิธีการสุ่มแหล่งปลูกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ใช้แบบสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ส่วนที่ 2 ข้อมูลสภาพการผลิต และส่วนที่ 3 ข้อมูลสภาพการตลาด เก็บรวบรวมข้อมูลในเขตจังหวัดพังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ได้เกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 45 ราย จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 71.11 มีขนาดไม่เกิน 5 ไร่ รายได้จากการจำหน่ายส้มแขกส่วนใหญ่ร้อยละ 33.33 มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อรายต่อปี พื้นที่ปลูกส้มแขกร้อยละ 84.44 มีสภาพเป็นที่เชิงเขา รูปแบบการทำสวนเป็นแบบผสมผสานแหล่งน้ำที่ใช้อาศัยน้ำฝนแหล่งเดียว เกษตรกรแต่ละรายมีต้นส้มแขกไม่เกิน 10 ต้น ร้อยละ 71.11 อายุต้นมากกว่า 21 ปี ร้อยละ 80.00 การขยายพันธุ์โดยเสียบยอดร้อยละ 82.22 ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นร้อยละ 24.44 ต้นส้มแขกออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ร้อยละ 77.78 ติดผลช่วงเดือนมกราคมร้อยละ 64.44 และทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคมร้อยละ 66.67 สำหรับปัญหาที่พบในการผลิตส้มแขกเกิดจากศัตรูพืชร้อยละ 86.66 การจำหน่ายส้มแขกเกษตรกรจะจำหน่ายที่จุดรับซื้อภายในท้องถิ่นร้อยละ 82.22 โดยทำการขนส่งเอง สำหรับผลผลิตมีการแปรรูปร้อยละ 75.56 เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพังงามีผลตอบแทนเฉลี่ย 2,340 บาทต่อต้น อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.4 และเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลตอบแทนเฉลี่ย 3,312 บาทต่อต้น อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.3
ต้นส้มแขกที่เสียบยอดด้วยกิ่งข้าง และต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งกระโดง ใช้สำหรับศึกษาการจัดการทรงพุ่ม ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ระหว่างปี 2556 - 2558 หลังจากปลูกได้ 30 เดือน ต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งข้าง มีความสูงของต้นเฉลี่ย 77.68 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น 3.86 เซนติเมตร และมีจำนวนกิ่ง 1.06 กิ่งต่อต้น จาก 100 ต้น มีต้นที่แตกกิ่ง 41 ต้น และต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งกระโดงมีความสูง 57.63 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น 3.24 เซนติเมตร ไม่มีการแตกกิ่ง ยังไม่ได้มีการตัดแต่งกิ่งตามกรรมวิธีที่วางไว้ เพราะต้นที่แตกกิ่งมีน้อย และจำนวนกิ่งต่อต้นมีจำนวนน้อย