การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง
เพ็ญจันทร์ วิจิตร, หฤทัย แก่นลา, ปรีชา ภูสีเขียว, สุรเดช ปัจฉิมกุล, โอภาส จันทสุข และอุมาพร รักษาพราหมณ์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

          สับปะรดพันธุ์ตราดสีทองเป็นสับปะรดรับประทานผลสดมีความโดดเด่นด้านรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีศักยภาพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร การใช้ปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสมเป็นปัญหาทำให้ได้ผลผลิตปริมาณและคุณภาพต่ำ การศึกษานี้เพื่อศึกษาสภาพการผลิตสับปะรดตราดสีทองของเกษตรกรในพื้นที่ และทดสอบเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการผลิตของเกษตรกร ได้ผลผลิตคุณภาพและได้รับตอบแทนที่สูงขึ้น การศึกษาประกอบด้วย 1) ระบบการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตราด ศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์โดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตราดสีทองในพื้นที่จังหวัดตราด จำนวน 70 ราย ปีการผลิต 2554 การศึกษาพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตราดสีทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา การถือครองที่ดินในพื้นที่ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่ที่ดินเป็นของผู้อื่นเกษตรกรไม่เสียค่าเช่า ระบบการปลูกส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยาง ส่วนใหญ่ปลูกแบบแถวคู่ระยะปลูก 30 x 50 x 100 เซนติเมตร เกษตรกรไม่ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุม แต่มีส่วนน้อยใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นก่อนปลูก ส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นจำนวน 2 ครั้งก่อนบังคับดอก มีความหลากหลายของเกรดปุ๋ยที่ใช้ของเกษตรกรแต่ละราย บังคับดอกเมื่อต้นมีอายุ 8 - 12 เดือน ด้วยสารเอธิฟอน 50 %WP ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย การเก็บเกี่ยวประเมินจากอายุผลและองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย การจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่ขายเหมายกสวนให้กับพ่อค้ารับซื้อ การผลิตได้รับกำไรสุทธิเฉลี่ย 8,702.44 บาท/ไร่ 2) การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองในพื้นที่จังหวัดตราด ทำการทดสอบเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดตราดสีทองตามคำแนะนำในเรื่องการคัดหน่อพันธุ์ และการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในระยะการเจริญเติบโต เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ ดำเนินการในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดตราด ในปี 2554 – 2558 ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิธีทดสอบและวิธีเกษตรกรพบว่า วิธีทดสอบมีการเจริญเติบโต ได้แก่ ความยาวใบ ความก้วางใบ และจำนวนใบ สูงกว่าวิธีเกษตรกร น้ำหนักเฉลี่ยของผลผลิตมีค่าเฉลี่ย 1.64 และ 1.52 กิโลกรัมต่อผล ค่าความหวานเฉลี่ยเท่ากับ 14.83 และ 14.46 องศาบริกซ์ และค่าเฉลี่ยปริมาณกรดรวมมีค่าเท่ากับร้อยละ 0.73 และ 0.70 ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยเท่ากับ 12,778.00 และ 12,980.00 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ยเท่ากับ 27,081.14 และ 25,956.85 บาท/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากับ 14,303.14 และ 12,976.85 บาท/ไร่ และค่า BCR เท่ากับ 2.12 และ 2.00 ตามลำดับ เปรียบเทียบผลตอบแทนทั้งสองวิธีในแปลงทดสอบและขยายผลพบว่า วิธีทดสอบได้รับผลตอบแทนสูงกว่าวิธีเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 20.71 การคัดแยกเกรดผลผลิตเพื่อจำหน่ายตามเกณฑ์กำหนดขนาดผล เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 20.86 – 26.86


ไฟล์แนบ
.pdf   153_2558.pdf (ขนาด: 1.01 MB / ดาวน์โหลด: 1,039)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม