การวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลแวนด้าเพื่อการค้า
#1
การวิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลแวนด้าเพื่อการค้า
สุปัน ไม้ดัดจันทร์, ฉัตต์นภา ข่มอาวุธ, รุ่งนภา ทองเคร็ง, วรางคณา โชติเศรษฐี, สุธามาศ ณ น่าน, สุดาวรรณ มีเจริญ, ดารุณี ปุญญพิทักษ์, สุรีย์พร บัวอาจ, สุภาภรณ์ สาชาติ, ธัญพร งามงอน, ทิพวรรณ กันหาญาติ, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, อำนวย อรรถลังรอง, จิตอาภา จิจุบาล, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, เพ็ญลักษณ์ ชูดี, กำพล เมืองโคมพัส, สมพร เหรียญรุ่งเรือง และเยาวภา เต้าชัยภูมิ
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์, กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มวิจัยพัฒนาการตรวจสอบพืช และจุลินทรีย์กัดแปรพันธุกรรม ส านักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

          กล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นกล้วยไม้ที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับผลิตในประเทศรองจากกล้วยไม้สกุลหวาย จึงต้องมีการศึกษาในด้านของการปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งการอารักขาพืช เพื่อเป็นข้อมูลในการเพิ่มมูลค่าการผลิตและเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางการตลาดในอนาคต จากการดำเนินการในด้านต่างๆ ได้ผลดังนี้

          การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุลแวนด้า ดำเนินการปี พ.ศ. 2554 - 2558 โดยการรวบรวมพันธุ์แวนด้าฟ้ามุ่ยและสามปอยจากแหล่งต่างๆ คัดเลือกที่มีลักษณะดีเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายลักษณะร่วมกัน เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ทำการผสมพันธุ์ระหว่างต้นที่คัดเลือกให้ได้ต้นที่มีลักษณะดี เพื่อใช้เป็นพันธุ์ใหม่ทดแทนพันธุ์เดิมหรือใช้เป็นฐานพันธุกรรมกล้วยไม้สำหรับพัฒนาพันธุ์ จากการทดลองศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ลูกผสมฟ้ามุ่ย จำนวน 25 คู่ผสม 1,095 ต้น และฟ้ามุ่ยน้อย จำนวน 23 คู่ผสม 1,066 ต้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรีได้ลูกผสมฟ้ามุ่ย จำนวน 17 คู่ผสม 510 ต้น และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้ลูกผสมสามปอย จำนวน 3 คู่ผสม 952 ต้น ซึ่งลูกผสมดังกล่าวยังไม่สามารถประเมินลักษณะดอกของต้นลูกผสมได้ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในโครงการวิจัยระยะต่อไป

          การพัฒนารูปแบบการปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้าให้เหมาะสมสำหรับเป็นกล้วยไม้กระถาง ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงแพชรบูรณ์ ดำเนินการระหว่างปี 2554 – 2557วางแผนการทดลองแบบ 2 x 3 Factorial in CRD (Completely Randomized Design) มี 6 ซ้ำ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 ชนิดของกระถางขนาด 6 นิ้ว ได้แก่ กระถางพลาสติกใส และกระถางพลาสติกดำ ปัจจัยที่ 2 วัสดุปลูกชนิดต่างๆ ได้แก่ กาบมะพร้าวสับสแฟกนัมมอสและขุยมะพร้าว จำนวน 6 กรรมวิธี ดังนี้ 1) กระถางพลาสติกใส : กาบมะพร้าวสับเล็ก 2) กระถางพลาสติกใส : สแฟกนัมมอส 3) กระถางพลาสติกใส : ขุยมะพร้าว 4) กระถางพลาสติกดำ : กาบมะพร้าวสับเล็ก 5) กระถางพลาสติกดำ : สแฟกนัมมอส 6) กระถางพลาสติกดำ : ขุยมะพร้าวอัตรา 1:1 ปลูกเลี้ยงในโรงเรือนพรางแสง 50 % พบว่ากล้วยไม้สกุลแวนด้าในทุกกรรมวิธีมีเปอร์เซ็นต์การมีชีวิตรอด 100% วัสดุปลูกทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ กาบมะพร้าวสับสแฟกนัมมอสและขุยมะพร้าว ทำให้จำนวนใบ ความสูงต้น ความกว้างใบ ความยาวใบ จำนวนรากความยาวรากความหนารากจำนวนช่อดอก และจำนวนดอกแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ส่วนชนิดของกระถางไม่มีความแตกต่างทางสถิติในทุกกรรมวิธีของการเจริญเติบโต

          การอารักขาพืชในกล้วยไม้ประกอบด้วย 2 การทดลอง ได้แก่ การใช้สารเสริมความแข็งแรงในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากแบคทีเรียของกล้วยไม้แวนด้าแอสโคเซนด้า และการใช้สารเคมีในการป้องกันโรคกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่เกิดจากแบคทีเรียโรคใบจุดสีน้ำตาลที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Acidovorax avenae subsp. catteliyae เป็นโรคที่สำคัญของกล้วยไม้สกุลแวนด้า ซึ่งการป้องกันกำจัดโรคนี้ทำได้ค่อนข้างยากการใช้สารเสริมความแข็งแรงในการป้องกันกำจัดโรค มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพสารที่สามารถเสริมความแข็งแรงแก่กล้วยไม้สกุลแวนด้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาล ดำเนินการะหว่างปี 2554 - 2556 ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช วางแผนการทดลองแบบ CRD 12 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยใช้สารเสริมความแข็งแรง 5 ชนิด ได้แก่ ซิลิคอนออกไซด์ ไคโตซาน ปูนแดง ปูนขาว คลอรีนผง เปรียบเทียบกับน้ำนึ่งฆ่าเชื้อ พ่นก่อนและหลังการปลูกเชื้อสาเหตุโรค ผลการทดลองพบว่า การใช้สารละลายปูนแดงพ่นทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้งก่อนปลูกเชื้อ ทำให้กล้วยไม้แสดงอาการโรคนี้ช้ากว่ากรรมวิธีอื่น โดยสามารถยับยั้งการขยายขนาดของแผลจุดสีน้ำตาลบนใบได้ มีสารเคมีเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันกำจัดโรคกล้วยไม้ ซึ่งสารดังกล่าวทำให้กล้วยไม้อ่อนแอและเกิดการดื้อยาได้ จึงมีการศึกษาหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งการใช้สารเคมีที่เหมาะสมในการป้องกันกำจัด โดยทำการคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพสารเคมีควบคุมเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคกล้วยไม้สกุลแวนด้าในปี 2554 พบว่าสารเคมี 4 ชนิด สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ A. avenae subsp. catteliyae สารเคมี 3 ชนิด ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Burkholderia gladioli สารเคมี 3 ชนิด ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Erwinia carotobora subsp. carotovora และสารเคมี 3 ชนิด ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Erwinia chrysanthemi และแบคทีเรียสาเหตุโรคทุกเชื้อดื้อต่อสารเคมีทดสอบประสิทธิภาพสารเคมีควบคุมโรคที่เกิดจากแบคทีเรียทั้ง 4 ชนิด ในระดับโรงเรือนปลูกพืชทดลองในปี 2555 - 2556 พบว่าทุกกรรมวิธีได้ขนาดแผลหลังการพ่นสารเคมีน้อยกว่ากรรมวิธีควบคุมระหว่างปี 2557 - 2558 จัดการโรคที่เกิดจากแบคทีเรียของกล้วยไม้สกุลแวนด้าโดยการใช้สารเคมีแบบสลับในโรงเรือนปลูกพืชทดลองและแปลงเกษตรกรได้ผลการทดสอบดังนี้คือ

          การฉีดพ่น kasugamycin 2%W/V SL 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง สลับ streptomycin sulfate + oxytetracycline hydrochloride 19.5%WP 9 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรพ่น 2 ครั้งในสภาพโรงเรือนทดลอง สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ A. avenae subsp. cattleyae สาเหตุโรคใบจุด โดยได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 0.33 ซม. ยาว 0.44 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 0.78 ซม. ยาว 0.80 ซม.ส่วนในแปลงเกษตรกรขนาดแผลทุกกรรมวิธีไม่แตกต่างกับกรรมวิธีควบคุม

          การฉีดพ่น bordeaux mixture 77%WG 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง สลับกับ copper hydroxide 77%WP 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ในสภาพโรงเรือนทดลองสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ B. gladioli โดยได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 2.71ซม. ยาว 12.80 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 3.18 ซม. ยาว 15.03 ซม.ส่วนในแปลงเกษตรกร การฉีด streptomycin oxytetracycline 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร penicillins 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร copper hydroxide 77%WP 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับ captan 50%WP 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรนั้น ได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 2.13 ซม. ยาว 12.27 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 2.02 ซม. ยาว 15.57 ซม.

          การฉีดพ่น streptomycin oxytetracycline 10 กรัมต่อน้ำ 20ลิตร penicillins 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร copper hydroxide 77%WP 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับ captan 50%WP 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ E. carotovora subsp. carotovora สาเหตุโรคเน่าเละโดยได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 0.55 ซม. ยาว 0.76 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 1.47 ซม. ยาว 3.01 ซม. ส่วนในแปลงเกษตรกร การฉีดพ่น kasugamycin 2%W/V SL 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง สลับ streptomycin sulfate + oxytetracycline hydrochloride 19.5%WP 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้งได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 2.75 ซม. ยาว 13.98 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 3.14 ซม. ยาว 16.13 ซม.

          การฉีดพ่น streptomycin oxytetracycline 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร penicillins 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร copper hydroxide 77%WP 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับ captan 50%WP 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ E. chrysanthemi สาเหตุโรคเน่าเละโดยได้ขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 0.62 ซม. ยาว 1.07 ซม.ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 0.71 ซม. ยาว 1.06 ซม. ส่วนในแปลงเกษตรกร กรรมวิธีเดียวกันนี้ได้ขนาดแผลเฉลี่ยกว้าง 2.50 ซม. ยาว 7.13 ซม. ดีกว่าขนาดแผลของกรรมวิธีควบคุมซึ่งขนาดแผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว้าง 2.56 ซม. ยาว 10.56 ซม.


ไฟล์แนบ
.pdf   94_2558.pdf (ขนาด: 1.34 MB / ดาวน์โหลด: 1,954)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม