วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุดคุณภาพ
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุดคุณภาพ
ชมภู จันที, ธีรวุฒิ ชุตินันทกุล, มาลัยพร เชื้อบัณฑิต, สำเริง ช่างประเสริฐ, วีรญา เต็มปีติกุล, ศิริพร วรกุลดำรงชัย, ศุภลักษณ์ อริยภูชัย, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, อาพร คงอิสโร, อนุสรณ์ สุวรรณเวียง, อรวินทินี ชูศรี, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, รัชนี ภัทรวาโย, นิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร, สมบัติ ตงเต๊า, นาวี จิระชีวี, คุรุวรรณ์ ภามาตย์, นิวัติ อาระวิล, เทียนชัย เหลาลา, อุทัย ธานี, สากล วีริยานันท์, ธนาวัฒน์ ทิพย์ชิต, ชญานุช ตรีพันธ์, สุมาลี ศรีแก้ว, บุญชนะ วงศ์ชนะ, ฐาปนีย์ ทองบุญ, วริยา ประจิมพันธุ์, กิรนันท์ เหมาะประมาณ, เกษศิริ ฉันทพิริยะพูน, อุมาพร รักษาพรหมณ์, อรุณี วัฒนวรรณ และจิตติลักษณ์ เหมะ
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี, ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย, สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7

          ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตมังคุดคุณภาพได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุดคุณภาพ โดยศึกษาวิธีการผลิตมังคุดนอกฤดู การกระจายการผลิต การอารักขาพืช พันธุกรรมมังคุด การออกแบบสวน ผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงต่อการผลิตมังคุด และเครื่องต้นแบบที่ใช้ลมทำให้ผลมังคุดสดแห้งในโรงคัดบรรจุสำหรับการส่งออก พบว่าการให้น้ำสม่ำเสมอ (ให้น้ำทุก 7 วัน ครั้งละ 200 ลิตร, การงดน้ำจนใบเหี่ยวจนถึงข้อที่ 2 (คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร) และการขังน้ำรอบโคนต้นจนมังคุดออกดอก สามารถชักนำให้มังคุดออกดอกได้ก่อนและมากกว่ากรรมวิธีอื่น การพ่นปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เพื่อกระตุ้นใบอ่อนหลังการเก็บเกี่ยว และพ่นปุ๋ยสูตร 0-52-34 อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ที่ใบระยะเพสลาด ทำให้มังคุดมีความพร้อมในการออกดอกและสามารถออกดอกและเก็บเกี่ยวผลได้เร็วกว่ากรรมวิธีอื่นจึงได้ปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น การพ่นสารไซโตคินนิน ความเข้มข้น 100 ppm และธาตุอาหารเสริมที่ผลิตจากสาหร่าย ความเข้มข้น 100 ppm เมื่อผลอายุ 8 - 13 สัปดาห์หลังดอกบาน สามารถชะลอการเปลี่ยนสีของผลได้นาน 2 - 3 วัน การพ่นด้วยสารละลาย Ethephon ความเข้มข้น 200 ppm เมื่ออายุผลเข้าสัปดาห์ที่ 11 หลังดอกบาน ทำให้มังคุดสุกก่อนกรรมวิธีอื่นโดยเริ่มสุก 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนต้นทั้งหมด การพ่นสารเคมีอิมิดาคลอพิด อัตรา 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตรร่วมกับแคลเซียมโบรอน จำนวน 2 ครั้ง ในระยะออกดอกถึงดอกบานหลังจากนั้นพ่นสารเคมีป้องกันแมลงตามความจำเป็นโดยใช้ระดับเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ทำให้ปริมาณเพลี้ยไฟก่อนและหลังการทดลองลดลงแตกต่างจากกรรมวิธีอื่น และได้ผลผลิตคุณภาพเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพันธุกรรมของมังคุดพบต้นมังคุดที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นปกติ เช่น การแตกกิ่ง ลักษณะใบและผล การตัดแต่งมังคุดทรงครึ่งวงกลมความสูงลำต้น 5 เมตร มีจำนวนผล/ต้นมากที่สุดเฉลี่ย 444 ผล มีปริมาณผลผลิต/ต้นมากที่สุดเฉลี่ย 42.60 กิโลกรัม มีปริมาณผลผลิต/ไร่ มากที่สุดเฉลี่ย 1,866 กิโลกรัม มีปริมาณผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาด 74.59% ของผลผลิตทั้งหมด และมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 97.89 กรัม มากกว่าการไม่ตัดแต่งทรงพุ่ม ต้นมังคุดที่เสียบยอดจากกิ่งข้าง (primary branch) มีแนวโน้มให้จำนวนดอก/ต้น จำนวนผล/ต้น ปริมาณผลผลิต/ต้น และปริมาณผลผลิต/ไร่ มากกว่าต้นมังคุดที่เสียบยอดจากกิ่งแขนง (secondary branch) การให้น้ำอัตรา 300 ลิตร/ชั่วโมง มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพดีกว่าการให้น้ำอัตรามากกว่า 600 ลิตร/ชั่วโมง และอัตรา 120 ลิตร/ชั่วโมง ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และความชื้นมีผลต่อการออกดอกของมังคุดโดยตรง อ.ชะอวด และ อ.ลานสกา ปริมาณน้ำฝนจะลดต่ำสองช่วงคือ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคมสิงหาคม ทำให้มังคุดออกดอก 2 ครั้งในแต่ละปี ส่วน อ.ฉวาง ปริมาณน้ำฝนจะต่ำสุดเฉพาะเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ มังคุดจะออกดอกในช่วงในฤดูเท่านั้น ส่วนปี 2558 ปริมาณน้ำฝนจะแปรปรวนไปจากเดิม คือ มีสภาพแล้งจัดช่วงต้นปีทั้งพื้นที่ แต่ช่วงกลางปีฝนตกตลอดถึงปลายปีทำให้มังคุด อ.ลานสกาไม่ออกดอกช่วงนอกฤดู ส่วน อ.ชะอวดจะทิ้งช่วงเดือนสิงหาคมทำให้ออกดอกนอกฤดู เครื่องต้นแบบสำหรับเป่าแห้งมังคุดสดในโรงคัดบรรจุสำหรับการส่งออก สามารถลดระยะเวลาการเป่าแห้งมังคุดสดได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเดิมคือ การใช้พัดลมเป่ามังคุดบนโต๊ะ ทำให้มีความสามารถในการเป่าแห้งมังคุดสดต่อวันได้มากกว่า โดยคุณภาพของมังคุดมีสภาพความสดไม่แตกต่างกันและลดการใช้พื้นที่สำหรับตั้งโต๊ะลดความชื้น


ไฟล์แนบ
.pdf   76_2558.pdf (ขนาด: 5.13 MB / ดาวน์โหลด: 2,320)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม