อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของงานวิจัยพืชท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของงานวิจัยพืชท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          คนไทยในอดีตรู้จักนำพืชท้องถิ่นหรือพืชพื้นเมืองมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ภายในครัวเรือนอย่างกว้างขวาง เช่น ใช้เป็นอาหาร ใช้สีและกลิ่นจากพืชเพื่อปรุงแต่งรสของอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรค  สีสำหรับย้อมผ้า ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชและสัตว์ ตลอดจนใช้ในทางศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยสามารถใช้ทุกส่วนของพืช เช่น ใบและยอด  หัวและราก  ดอก ฝัก และผล  พืชท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน และชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำจนถึงภูเขา จึงมีพืชท้องถิ่นที่ชุมชนในพื้นที่นำมาใช้ประโยชน์หลายชนิด แต่การวิจัยพืชท้องถิ่นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 มี 3 ชนิด ได้แก่ คราม มะเม่า และหวาย ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในแถบเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร 

          คราม เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อจังหวัดสกลนคร เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นชนเผ่าต่างๆ ได้แก่  ไทญ้อ ไทโย้ย ภูไท ไทกะเลิง ไทโซ่ ไทข่า และไทลาว ซึ่งมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่ใช้สีดำหรือสีน้ำเงินเป็นสีพื้น โดยสีที่ใช้ย้อมผ้าส่วนใหญ่ได้มาจากต้นคราม และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมครามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดสกลนครคิดเป็นมูลค่าถึง 60 ล้านบาท ในปี 2554 และเพิ่มเป็น 277 ล้านบาทในปี 2555 มีการส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ถึงร้อยละ 10 โดยมีประเทศญี่ปุ่น และอังกฤษ เป็นตลาดหลัก เนื่องจากผ้าครามมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีได้ดี ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น (อ้อยใจ, 2552) 

          มะเม่า หรือ หมากเม่า จัดเป็นไม้ผล และผลไม้ป่าที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ปัจจุบัน นิยมนำผลสุกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายชนิด อาทิ ไวน์มะเม่า แยมมะเม่า น้ำมะเม่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ และนำไปประกอบอาหาร เนื่องจากให้รสหวานอมเปรี้ยว และมีสีสันสวยงาม เมื่อนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือ หมักเป็นไวน์จะให้สีแดงอมม่วงที่น่ารับประทานไม่ต่างจากไวน์ชนิดอื่น นอกจากนี้น้ำเม่าสกัดเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ มีสารอาหาร และวิตามินหลายชนิด ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี และวิตามิน B1 B2 และวิตามิน E นอกจากนี้แล้วยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายถึง 18 ชนิด จากทั้งหมด 20 ชนิด รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง (วินัย และกาญจนา, 2547) ปัจจุบันมีการปลูกมะเม่าหลวงเป็นการค้าที่อำเภอภูพาน วาริชภูมิ และกุดบาก จังหวัดสกลนคร กลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปมะเม่าในจังหวัดสกลนครมีความต้องการมะเม่าเพื่อใช้ในการแปรรูปเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะโรงงานดอยคำ และกลุ่มสหกรณ์แปรรูปมะเม่า ที่มีอยู่จำนวน 9 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 18.7 ล้านบาท 

          หวายในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50 ชนิด แทบทุกชนิดสามารถนำมาบริโภคได้ แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีรสชาติถูกใจผู้บริโภค หวายดง (Calamus  siamensis) เป็นหวายที่เหมาะที่จะนำมาปลูกเพื่อผลิตหน่อจำหน่ายเป็นการค้ามากที่สุด เนื่องจากเป็นหวายที่โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง แตกกอดี ตอบสนองต่อการให้ปุ๋ยและน้ำเป็นอย่างดี และสามารถเก็บผลผลิตได้นานกว่าสามสิบปี หวายเป็นพืชป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่เกษตรกรในท้องถิ่นใช้ภูมิปัญญานำหวายมาปลูกในสวน โดยการดัดแปลงวิธีการปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณและผลผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคและจำหน่าย จนปัจจุบันมีการผลิตหวายเพื่อการค้าแหล่งใหญ่อยู่ที่จังหวัดสกลนคร  โดยในปี 2550/51 มีพื้นที่ปลูก 4,406 ไร่ ผลผลิตรวม 5.1 ล้านหน่อ ผลผลิตเฉลี่ย 1,600 หน่อต่อไร่ 

          พืชทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เนื่องจากยังมีการปลูกน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังไม่มีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี หรือพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตเชิงพาณิชย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร จึงได้มีการวิจัย สำรวจ และรวบรวมพืชท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สามารถจำแนกชนิดครามที่เกษตรกรปลูกได้ 2 สายพันธุ์ คือ ครามพันธุ์ฝักตรง (Indigofera tinctoria L.) และครามพันธุ์ฝักงอ (Indigofera suffruticosa Mill.) พัฒนาวิธีการประเมินเนื้อครามเปียกและความเข้มสี และพบว่าน้ำหนักเนื้อครามเปียก จากครามพันธุ์ฝักตรงและฝักงอที่อายุเก็บ 4 เดือน ให้น้ำหนักเนื้อครามเปียกสูงที่สุด แต่การเก็บเกี่ยวครามทั้งสองพันธุ์ที่อายุ 10 เดือน จะให้ความเข้มสีสูงที่สุด

         นอกจากนี้ยังได้รวบรวมพันธุ์มะเม่าจากแหล่งต่างๆ ได้จำนวน 20 สายต้น และนำมาปลูกเปรียบเทียบ ศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตพบว่า มีจำนวน 12 สายต้น เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี สายต้นที่ให้ผลผลิตรวมสูงที่สุด คือสายต้น สน.19  สน.12 และ สน.1 ได้ผลผลิต 2,406  1,664 และ 1,100 กรัม/ต้น ตามลำดับ  การศึกษาการจัดการธาตุอาหารมะเม่า เพื่อกำหนดความเข้มข้นของธาตุอาหารในใบมะเม่า  เพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานธาตุอาหารเบื้องต้นสำหรับมะเม่า พบว่าธาตุไนโตรเจนมีค่าระหว่าง 1.38 – 1.92 เปอร์เซ็นต์  ฟอสฟอรัส 0.15 – 0.26 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.51 – 0.69 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 1.14 – 1.98  เปอร์เซ็นต์  และแมกนีเเซียม 0.08 – 0.14 เปอร์เซ็นต์ พบโรคของมะเม่า 6 ชนิด ได้แก่ โรคใบจุด ที่เกิดจากเชื้อรา Guignardia และ Pestalotiopsis  ใบจุดสาหร่ายเกิดจาก  Cephaleuros virescens  ราดำบนใบเกิดจาก Scorias cylindrica  อาการเปลือกแตกยางไหล เกิดจากเชื้อรา Lasiodiplodia  pseudotheobromae และโรครากเน่าโคนเน่า  พบแมลงศัตรูมะเม่าทั้งประเภทปากดูดและปากกัด ได้แก่ เพลี้ยไฟ 8 ชนิด เพลี้ยหอย 6 ชนิด เพลี้ยแป้ง และ แมลงหวี่ขาว พบอย่างละ 3 ชนิด นอกจากนี้ยังพบ มวนลิ้นจี่ Chrysocoris stollii (Wolff) หนอนม้วนใบ 2 ชนิด รวมทั้งหนอนร่านกินใบ Thosea sp. หนอนเจาะกิ่งกาแฟสีแดง Zeuzera coffeae Nietner ด้วงหนวดปมจุดเหลืองดำ Aristobia approximator Thomson ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตมะเม่าในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และมาตรฐานคุณภาพของผลผลิต ซึ่งแบ่งกลุ่มผลผลิตเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เกรด A  B และ C  สำหรับหวาย รวบรวมพันธุ์หวายได้ 2 พันธุ์ คือ หวายหนามขาว (Calamus floribundus Griff.) และ  หวายดง (Calamus siamensis)


ไฟล์แนบ
.pdf   24_2558.pdf (ขนาด: 133.81 KB / ดาวน์โหลด: 564)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม