ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของไส้เดือนฝอย Radopholus similis ในไม้น้ำและไม้ดอกไม้ประดับ
#1
ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของไส้เดือนฝอย Radopholus similis ในไม้น้ำและไม้ดอกไม้ประดับ
นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด และวานิช คำพานิช
กลุ่มวิจัยโรคพืช และกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาวงจรชีวิตและความอยู่รอดของไส้เดือนฝอย Radopholus similis ในพรรณไม้น้ำและหน้าวัว โดยใช้ไส้เดือนฝอย R. similis ที่เพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณในชิ้นแครอทสภาพปลอดเชื้อปลูกเชื้อจำนวน 20 ตัว/ต้น ในรากไม้น้ำสกุล Anubias sp. ที่ปลูกในกล่องพลาสติกบรรจุทรายหยาบตั้งวางในระดับห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 25 วัน พบตัวเต็มวัยเพศเมียของ R. similis วางไข่ โดยพบไข่ของไส้เดือนฝอยติดสีแดงของสีย้อม acid fuchsin แสดงว่าไส้เดือนฝอยสามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตได้ในรากพืช เมื่อนำไปปลูกเชื้อในต้นไม้น้ำที่ปลูกในบ่อซีเมนต์จำนวน 100 ± 10 ตัว/ต้น และทำการตรวจรากทุก 7 วันๆ ละ 5 ต้น โดยใช้เทคนิคการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากด้วยคลื่นเสียง พบไส้เดือนฝอยเข้าสู่ระบบรากพืชทดสอบที่ 7 วันหลังปลูกเชื้อ และเมื่อเวลาผ่านไป 14 วัน พบไส้เดือนฝอยเจริญเติบโตในราก โดยพบเพศเมียและเพศผู้จำนวน 22 และ 8 ตัว ตามลำดับ ในวันที่ 21 และ 28 วัน พบไข่ของไส้เดือนฝอยอยู่ภายในรากพืช และเริ่มพบตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 รวมวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอย R. similis ในไม้น้ำเท่ากับ 28 วัน สำหรับการศึกษาการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของไส้เดือนฝอย R. similis ในหน้าวัวที่ปลูกในกระถางปลูกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ตั้งวางในกรงปลูกพืชเป็นเวลา 3 เดือน พบไส้เดือนฝอยมีการเพิ่มปริมาณมากขึ้น 2 เท่า โดยตรวจพบระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียมีผลรวมของระยะต่างๆ ของไส้เดือนฝอยเฉลี่ยเท่ากับ 622 ตัว/ต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   1678_2553.pdf (ขนาด: 144.91 KB / ดาวน์โหลด: 2,039)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม