01-05-2016, 11:19 AM
โรงอบยางแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเตาเผา
ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, จักรี เลื่อนราม, ไพโรจน์ หมื่นศรี, พิเชษฐ์ หมื่นศรี และวราวุธ ชูธรรมธัช
ศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง
ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, จักรี เลื่อนราม, ไพโรจน์ หมื่นศรี, พิเชษฐ์ หมื่นศรี และวราวุธ ชูธรรมธัช
ศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง
ทำการศึกษาและดำเนินการออกแบบโรงอบยางแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเตาเผาเพื่อทำการอบยางแผ่นให้แห้งและลดระยะเวลาการผึ่งยางได้ 5 เท่า จากเดิมที่เกษตรกรต้องผึ่งยางไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน นอกจากนี้ยังทำการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ไม่มีแดดหรือฝนตกในการอบยางให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากเตาเผา เพื่อทำให้ได้ยางแผ่นคุณภาพดี สีสวย ไม่ขึ้นรา ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2553 ณ ศูนย์วิจัยยางสงขลา ซึ่งต่อยอดจากการออกแบบโรงอบยางพลังงานแสงอาทิตย์หรือโรงอบยางต้นแบบที่จะอบยางได้ดีในช่วงที่มีแดดเท่านั้น โรงอบยางร่วมกับเตาเผานี้ทำด้วยโครงเหล็กขนาด 2x5 เมตร สูง 3 เมตร ผนังและหลังคาบุด้วยสังกะสีทาสีดำเพื่อรับความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้มากที่สุดโดยไม่ให้แดดสัมผัสกับผิวยางเป็นการป้องกันยางเสื่อมสภาพ มีปล่องระบายความชื้นอยู่บริเวณหลังคาโรงอบทั้ง 4 ด้าน มีแผงรับความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ทำด้วยแผ่นพลาสติกลอนเล็ก มีพื้นที่ 78 ตารางเมตร เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องผ่าน ด้านล่างปูด้วยทราย และหิน ตามลำดับ หนาประมาณ 10 เซนติเมตร มีความลาดชันประมาณ 15 องศา เพื่อเป็นตัวกักเก็บความร้อน ตัวโรงอบมีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อความสะดวกในการนำยางเข้าอบและนำยางที่แห้งแล้วออกอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่สำคัญของโรงอบนี้คือ เตาเผา ภายในปูด้วยอิฐทนความร้อนจนเต็มทุกด้าน หลังเตาเจาะต่อเชื่อมด้วยท่อเหล็กทอดใต้ฐานและไปเชื่อมต่อกับท่อกระจายความร้อนซึ่งวางตามความยาวของโรงอบ ด้านในมีรถตากยางสำหรับตากยางได้ 744 แผ่น เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีสวนยางขนาด 75-100 ไร่ จากการศึกษาพบว่า ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม ยางแผ่นจะแห้งได้เร็วโดยจะคายความชื้นได้ดีที่สุดในช่วงวันแรก ได้ร้อยละ 21.69-27.90 หลังจากนั้นอัตราการคายความชื้นจะลดลงอย่างช้าๆ และจะคงที่ในวันที่ 5 เป็นต้นไป การอบยางแผ่นในโรงอบอัตราการคายความชื้นโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าผึ่งในโรงเรือน ยางแผ่นจึงแห้งได้ดีกว่าในสภาพแดดจัดอุณหภูมิภายในโรงอบอยู่ที่ระดับ 4-53 องศาเซลเซียส โดยที่อุณหภูมิภายในสูงกว่าภายนอกประมาณ 7-14 องศาเซลเซียส ทำให้ปริมาณความชื้นในยางแผ่นน้อยกว่าร้อยละ 1 ในช่วงที่มีฝนจะใช้ความร้อนจากเตาเผาที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานาน 3 วัน หรือใส่ฟืนในอัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อยางแผ่น 1 กิโลกรัม ยางแผ่นที่ได้จึงมีคุณภาพดี สีเหลืองใสสามารถเก็บได้นานโดยไม่ขึ้นรา ยางแผ่นอบแห้งเมื่อนำไปรมควันจะใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องทำการรมควันนานถึง 3-4 วัน สามารถลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันได้ถึง 3 เท่า ดังนั้นการลดปริมาณการใช้ไม้ยางมาทำกาารเผาเพื่อให้ความร้อนในการรมควันยางเป็นการลดปริมาณคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมได้อีกด้วย สำหรับการลงทุนสร้างโรงอบขนาดนี้อยู่ที่ราคาประมาณ 120,000 บาท สามารถผลิตยางผ่นอบแห้งได้ปีละ 29,760 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายยางแผ่นอบแห้งได้สูงกว่ายางแผ่นดิบในท้องตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.38 บาท ใน 1 ปี มูลค่าเพิ่ม 70,828.80 บาท