ข่าวประชาสัมพันธ์

‘รมช.มนัญญา’เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคใต้ พร้อมเปิดตัว 2 โครงการใหญ่ “DOA Green Together ” และ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร 1 ไร่ 1 แสน ในพื้นที่ในภาคใต้”

‘รมช.มนัญญา’ ผลักดันลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร เปิดตัว 2 โครงการใหญ่ “DOA Green Together” และ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร 1 ไร่ 1 แสน ในพื้นที่ภาคใต้” หนุนคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคใต้ ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด “วิชาการเกษตรนำ เทคโนโลยีล้ำ เกษตรกรรมใต้ยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 27 เมษายน 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม พร้อมกันนี้ รมช.มนัญญา ได้เป็นประธานเปิดโครงการ “DOA GREEN TO GETHER” แปลงต้นแบบการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ในการผลิตพืช และเปิดโครงการ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร (มะพร้าว พืชร่วม และการเลี้ยงผึ้ง) 1 ไร่ 1 แสน ในพื้นที่ภาคใต้” โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นซิลเวอร์โอ๊ค (Silver Oak) เพื่อช่วยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของการดำเนินงานในกลุ่มของพืช ปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมถึงไม้ผล นอกจากนี้ยังมีส่วนที่มีการขยายผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้น เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพอีกชนิดหนึ่ง สำหรับโครงการนำร่องด้านคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจ ที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการ ภายใต้ชื่อ “DOA Green Together” จะนำไปสู่การสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินงานในส่วนของพื้นที่กรมวิชาการเกษตรมาหมุนเวียนพัฒนาภายในตัวของหน่วยงานเอง และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยเฉพาะองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงานในการปฏิบัติต่อไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแนวทางในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1. การจัดทำต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช โดยมีแนวทางการดำเนินงานในพืชเป้าหมายที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล (ทุเรียน และมะม่วง) ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และ 2. การพัฒนากรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กรมวิชาการเกษตรสามารถเป็นหน่วยงานในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาก๊าซเรือนกระจกเพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว
สำหรับ โครงการ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร 1 ไร่ 1 แสน ในพื้นที่ภาคใต้” เป็นต้นแบบสวนมะพร้าวแบบผสมผสาน พื้นที่ 1 ไร่ ดูแลจัดการสวนโดยใช้แรงงานเพียง 1 คน โดยปลูกมะพร้าวเป็นพืชหลัก แซมด้วยไม้ผล และพืชผัก เป็นการดำเนินการตามโครงการ “GAP Monkey Free Plus” โดยยึดหลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งพบว่า วิธีการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวด้วยการใช้ไม้สอย จะช่วยสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในท้องถิ่น โดยมีค่าตอบแทนการเก็บเกี่ยวลูกละ 2 บาท เฉลี่ยสร้างรายได้วันละ 4,000 บาท ขณะที่เจ้าของสวนมะพร้าว นอกจากจะมีรายได้จากมะพร้าว ยังมีการทำสวนผสมผสาน การเลี้ยงผึ้งโพลงในสวนมะพร้าว ซึ่งสร้างรายได้ในระบบการผลิตสูงถึง 100,000 บาทต่อไร่ต่อปี จากการเก็บผลผลิตทั้งพลู หมาก ไม้ผล ทุเรียน มังคุด เงาะ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 60,000 ต่อไร่ต่อปี ขณะที่การเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว ที่ 40 รังต่อไร่ เฉลี่ยให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 50 – 60 ขวดต่อปี จะมีรายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคใต้ฯ ในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 รวมถึงหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ตลอดจนความร่วมมือของภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีตลอดระยะเวลา 50 ปี ของกรมวิชาการเกษตร สู่กลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจที่จะนำผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรไปใช้และขยายผล โดยมีการจัดทำแปลงสาธิตแสดงพันธุ์พืช นิทรรศการ ผลงานวิชาการ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอด ขยายผลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งให้บริการคลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่อย่างครบวงจร ทั้งบริการวิชาการ เทคโนโลยีการผลิตด้านพืช บริการตรวจรับรอง GAP พืช และพืชอินทรีย์ การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน การให้บริการโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) เป็นต้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน Smart Farmer เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจทั่วไปรวมประมาณ 1,000 ราย

Visitor Counter

140342
Users Today : 3
Users Yesterday : 0
Views Today : 3
Views Yesterday :
Who's Online : 0