พรบ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542
พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลบเดช ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2542 มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางให้เป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การค้า และการแปรรูปยาง ตลอดจนการตลาดยางให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วย 61 มาตรา 5 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 คณะกรรมการควบคุมยาง
หมวดที่ 2 การขออนุญาตและออกใบอนุญาต
หมวดที่ 3 หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
หมวดที่ 4 พนักงานเจ้าหน้าที่
หมวดที่ 5 บทกำหนดโทษ
การประกอบกิจการยางที่ต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง มีดังนี้
- การนำเข้าหรือส่งออกซึ่งต้นยาง ดอก เมล็ด หรือตาของต้นยาง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่อาจใช้เพาะพันธุ์ได้ (มาตรา 18-19)
- การนำยางเข้าใน ผ่าน หรือออกจากเขตควบคุมการขนย้ายยาง (มาตรา 20)
- การขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้า (มาตรา 21)
- การ ค้ายาง หมายถึง ผู้ที่ซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนยาง และหมายความรวมถึงการซื้อยาง ขายยาง ตามตราสารที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออกตราสารนั้น หรือโดยประการอื่นแต่ไม่รวมถึงผู้ทำสวนยาง ขายน้ำยางสด ยางก้อน เศษยางหรือยางแผ่นดิบ ซึ่งเป็นผลิตผลจากสวนยางของตน (มาตรา 22)
- การ ตั้งโรงทำยาง หมายถึง สถานทีี่ที่ใช้น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง หรือยางแผ่นดิบ มาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ ยางดิบชนิดอื่นๆ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงสถานที่ที่ผลิตยางผสม แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ทำยางแผ่นดิบ (มาตรา 25)
- การนำเข้ามามาในหรือส่งยางไปนอกราชอาณาจักร ยกเว้นเพื่อเป็นตัวอย่างและมีน้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม (มาตรา 26)
- การจัดให้มีการวิเคราะห์หรือการทดสอบคุณภาพยาง (มาตรา 27)