พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2542 มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางให้เป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การค้า และการแปรรูปยาง ตลอดจนการตลาดยางให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วย 61 มาตรา 5 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 คณะกรรมการควบคุมยาง
หมวดที่ 2 การขออนุญาตและออกใบอนุญาต
หมวดที่ 3 หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
หมวดที่ 4 พนักงานเจ้าหน้าที่
หมวดที่ 5 บทกำหนดโทษ
การประกอบกิจการยางที่ต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง มีดังนี้
1.การนำเข้าหรือส่งออกซึ่งต้นยาง ดอก เมล็ด หรือตาของต้นยาง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่อาจใช้เพาะพันธุ์ได้ (มาตรา 18-19)
2.การนำยางเข้าใน ผ่าน หรือออกจากเขตควบคุมการขนย้ายยาง (มาตรา 20)
3.การขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้า (มาตรา 21)
4.การ ค้ายาง หมายถึง ผู้ที่ซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนยาง และหมายความรวมถึงการซื้อยาง ขายยาง ตามตราสารที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออกตราสารนั้น หรือโดยประการอื่นแต่ไม่รวมถึงผู้ทำสวนยาง ขายน้ำยางสด ยางก้อน เศษยางหรือยางแผ่นดิบ ซึ่งเป็นผลิตผลจากสวนยางของตน (มาตรา 22)
5.การ ตั้งโรงทำยาง หมายถึง สถานทีี่ที่ใช้น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง หรือยางแผ่นดิบ มาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ ยางดิบชนิดอื่นๆ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงสถานที่ที่ผลิตยางผสม แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ทำยางแผ่นดิบ (มาตรา 25)
6.การนำเข้ามามาในหรือส่งยางไปนอกราชอาณาจักร ยกเว้นเพื่อเป็นตัวอย่างและมีน้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม (มาตรา 26)
7.การจัดให้มีการวิเคราะห์หรือการทดสอบคุณภาพยาง (มาตรา 27)