การฝึกอบรม “เทคนิคการคัดเกรดเมล็ดกาแฟทางกายภาพ”

          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม เรื่อง “เทคนิคการคัดเกรดเมล็ดกาแฟทางกายภาพ” ภายใต้โครงการ “การจัดลำดับชั้นคุณภาพเมล็ดกาแฟทางกายภาพ” ผ่านช่องทางออนไลน์ ( Video Zoom) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
          การฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ การจัดทำตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2564 ของกรมวิชาการเกษตร

จีนตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุมะพร้าว ส่งออกไปจีน


          เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรมวิชาการเกษตร โดย กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 (สวพ.2) สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) รับการตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุมะพร้าว ส่งออกไปจีน ผ่านช่องทางการตรวจประเมินระยะไกล (Remote Audit) Video Zoom
          ซึ่งจีนได้ตรวจประเมินสวนมะพร้าว จำนวน 3 สวน ได้แก่ สวนของนางสาวปราณี ประสูตร์แสงจันทร์ สวนของบริษัทซีพี แพลนท์ จำกัด (ฟาร์มพรานกระต่าย) และสวนของนายพิเชษฐ์ อยู่แก้ว
          โรงคัดบรรจุมะพร้าว จำนวน 3 โรง ได้แก่ โรงคัดบรรจุของบริษัท โนรี ฟรุ๊ต (ประเทศไทย) จำกัด โรงคัดบรรจุของบริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด และโรงคัดบรรจุของบริษัท ซีพี เนเจอร์ จำกัด
          เพื่อประเมินการจัดการศัตรูพืช ความปลอดภัย รวมถึงมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิด (Covid 19) ในสินค้ามะพร้าวส่งออกไปจีน ทั้งนี้จีนมีกำหนดการตรวจประเมินผลไม้ส่งออกไปจีน 4 ชนิด ได้แก่ มะพร้าว มังคุด ทุเรียน และลำไย ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2564 – 7 กรกฎาคม 2564 ซึ่งการตรวจประเมิน มังคุด ทุเรียน และลำไย มีกำหนดการตรวจประเมิน ระหว่างวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ปรับระดับการตรวจสารเคมีตกค้างในถั่วหวานและถั่วลันเตา

กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่นจะปรับระดับการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้าง Diniconazole, Flusilazole และ Hexaconazole  ในถั่วหวานและถั่วลันเตา เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด รายละเอียดตามเอกสารแนบ

กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ปรับระดับการตรวจสารเคมีตกค้างในถั่วหวานและถั่วลันเตา

การประชุมหารือแนวทางการพัฒนาการค้าสินค้าผักผลไม้ไทยไปสหภาพยุโรป

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช จัดการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาการค้าสินค้าผักผลไม้ไทยไปสหภาพยุโรป ณ ห้องประชุมเจรจาธุรกิจ ชั้น ๑ อาคารกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สอพ. นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผอ.กมพ. ผู้แทนสภาหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ผู้แทนผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผักผลไม้ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง สคว. สอพ. และ กมพ. เป็นการประชุมหารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประกาศกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับ ดูแลการส่งออกสินค้าผักผลไม้สดไปสหภาพยุโรป และหารือแนวทางการพัฒนางานวิจัยสำหรับการผลิตพืชภายใต้มาตรการควบคุมพิเศษ EL

การประชุม JSC MRA on Food Hygiene

นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมการประชุม Joint Sectoral Committee on MRA for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products (JSC MRA on PF) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2564 การประชุม ASEAN Committee on Harmonization of Prepared Foodstuff Standards (ACHPFS) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 18-19 มีนาคม 2564 และการประชุม Prepared Foodstuffs Product Working Group (PFPWG) ครั้งที่ 32 ในวันที่ 29-30 มีนาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนด การปรับประสานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ของอาเซียนสำหรับวัตถุเจือปนอาหาร สารปนเปื้อน ฉลากโภชนาการ วัสดุสัมผัสอาหาร พิจารณาการดำเนินงานภายใต้ความตกลงยอมรับร่วมอาเซียนสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร (ASEAN MRA on PF) และการระบุถึงความช่วยเหลือทางเทคนิคและขีดความสามารถในการสนับสนุนการทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป สำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร โดยที่ประชุมเวที  ACHPFS ได้คัดเลือกให้ไทยเจ้าภาพหลักปรับประสานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร จัดทำมาตรฐานเฉพาะสำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร

ติดตามความก้าวหน้าการถ่ายโอนภารกิจบริการด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เข้าร่วมประชุม เรื่อง “กำหนดการติดตามความก้าวหน้าในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร” ร่วมกับผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 09.30-13.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรมด้านมาตรฐานการผลิตพืช

การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ครั้งที่ 1/2564

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับคณะกรรมการ ผู้แทนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 และผู้แทนกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ณ ห้องประชุม 201 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร ผ่านระบบ Video Conference โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองมาตรฐานการผลิตพืช บริษัทศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตร แห่งเอเชีย จำกัด และการขยายขอบข่ายการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองมาตรฐานการผลิตพืช สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การประชุมพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นด้านการผลิตพืช ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1/2564

            วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นด้านการผลิตพืช ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร GAP ดีเด่น และเกษตรกรพืชอินทรีย์ดีเด่น จากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกระดับเขตจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 – 8 ผลการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นด้านการผลิตพืช ประจำปี 2564
            เกษตรกร GAP ดีเด่น ประจำปี 2564 ได้แก่ นายอำนาจ จันทรส ปลูกพืชลำไย สถานที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
            เกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น ประจำปี 2564 ได้แก่ นายสุธรรม จันทร์อ่อน ปลูกพืชผสมผสาน สถานที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

กรมวิชาการเกษตรประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย

            วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ในประเด็นปัญหาการส่งออกสินค้าผักสด ภายใต้มาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ (Establishment list) ที่ส่งออกจากไทย ไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส
            โดยกรมวิชาการเกษตรรับข้อเสนอของสภาหอการค้าไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ในการดำเนินการตามบทลงโทษตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สําหรับสินค้าผักและผลไม้สดส่งออกไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. 2556  ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้เน้นย้ำในเรื่องการดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมพิเศษฯ กรณีการระงับโรงคัดบรรจุ เนื่องจากการตรวจพบแมลงศัตรูพืช ณ ประเทศปลายทาง ว่ากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงได้ให้คำแนะนำด้านการจัดการแมลงศัตรูพืชแก่โรงคัดบรรจุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำก่อนที่จะทำการยกเลิกการระงับโรงคัดบรรจุ เพื่อให้สามารถกลับไปส่งออกได้อีกครั้ง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชกรมวิชาการเกษตร สภาหอการค้าไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทยจะหารือร่วมกันอีกครั้งในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าผักและผลไม้สดที่มีคุณภาพ สอดคล้องตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ต่อไป

การประชุม Expert Consultation Meeting on Sanitary and Phytosanitary Measures on Agricultural Products

            เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายผู้แทนจาก กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เข้าร่วมการประชุม Expert Consultation Meeting on Sanitary and Phytosanitary Measures on Agricultural Products ระหว่างสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China Customs: GACC) และหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมวิชาการเษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งผู้แทนกรมวิชาการเกษตรโดยนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการหารือประเด็นปัญหาการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน
            กรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ GACC ทราบเรื่องการดำเนินการประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของ FAO และ WHO เพื่อให้โรงคัดบรรจุผลไม้ใช้ปฏิบัติ ซึ่งฝ่ายไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและจะให้ความร่วมมือกับ GACC ในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการผลิตสินค้าของประเทศไทย รวมถึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามมาตรการสากลกรณีการวัดความยาวของก้านลำไย นอกจากนี้ได้หารือในประเด็นการเปิดตลาดผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ได้แก่ อินทผาลัม เสาวรส และสละ รวมทั้งหารือในประเด็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ที่นำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยและจีน โดยฝ่ายไทยเสนอแลกเปลี่ยนผลไม้เพิ่มเติมจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ มะขาม เงาะ และส้มโอ พร้อมทั้งเสนอให้เริ่มดำเนินงานด้านการตรวจสอบย้อนกลับการส่งออกผลไม้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป