ประชุมหารือมาตรการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อการส่งออก

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรมวิชาการเกษตร ประชุมเพื่อหารือในระดับนโยบาย ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทูตเกษตร สมาคมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการส่งออก เกษตรกร นักวิชาการอิสระ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๒๐๙ คน การประชุมระดับนโยบายมีผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชเป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อให้การบริหารจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนครอบคลุมในทุกมิติ โดยใช้กลไกของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ซึ่งเป็นคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวอย่างมาตรการระยะเร่งด่วน มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาผลผลิตพร้อมที่จะตัดออกจากสวนของเกษตรกร จึงกำหนดมาตรการ ให้มีการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยง จากแปลงเกษตรกร ได้แก่ การกำหนดมาตรการ ๔ กรอง
๑. การคัดทุเรียนคุณภาพ ให้เริ่มต้นจากสวน เช่น แยกแปลงที่มีการดูแลการกำจัด และควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี ซึ่งผลผลิตจะเรียกว่า ”ทุเรียนหนามเขียว”ต้องตัดผลผลิตที่มีคุณภาพ ให้บ่มเพื่อให้หนอนนออกมา และคัดลูกที่มีหนอนออก และนำผลผลิตที่คุณภาพสมบูรณ์ ส่งขายโรงคัดบรรจุ
๒. ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ หรือล้งเพิ่มขั้นตอนในการคัดทุเรียนที่มีหนอนติดมาโดยการบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา แล้วกำจัดหนอน
๓. นายตรวจพืชเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่ม ณ โรงคัดบรรจุ
๔. เปิดตรวจสอบ ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง ทั้งทางบกทางเรือ ทางอากาศ ทุกชิปเมนท์รับรองก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงช่องทางจำหน่ายทุเรียนสดที่มีความเสี่ยงจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนต้องจำหน่ายไปยังตลาดบริโภคภายในประเทศ โรงงานแปรรูป เป็นทุเรียนทอด หรือทุเรียนกวน หรือการแกะเนื้อทุเรียนแช่แข็งเพื่อส่งออก ซึ่งมีหน่วยงานพร้อมให้การเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงพานิชย์ ส่วนราชการในจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูป  

การฝึกอบรมหลักสูตร การตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ปาล์มน้ำมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร การตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ปาล์มน้ำมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ณ โรงแรมวังใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎ์ธานี เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ตรวจประเมินมาตรฐานการผลิตพืช มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน (มกษ.๕๙๐๔-๒๕๖๔) เพื่อใช้ในการตรวจประเมินและรับรองแหล่งผลิต GAP ปาล์มน้ำมัน รองรับการเปิดขอบข่ายการรับรองแหล่งผลิต GAP ปาล์มน้ำมัน ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน ๗๕ คน

กรมวิชาการเกษตร พร้อมหนุนหลังผู้ส่งออกดันผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก

กรมวิชาการเกษตร พร้อมหนุนหลังผู้ส่งออกดันผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก

กรมวิชาการเกษตร พร้อมหนุนหลังผู้ส่งออกดันผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร พร้อมหนุนหลังเกษตรกรไทย สู่เป้าหมายส่งออกผลไม้ไทยแสนล้าน ส่วนกรณีการสวมสิทธิ์สินค้าเกษตร ย้ำทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษามาตรฐาน นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อ “การส่งออกผลไม้ไทย “แสนล้าน” สู่ตลาดโลก : เงื่อนไข กฎ ระเบียบ และแนวโน้มการส่งออก” โดยระบุว่า กรมฯไม่ได้อยากทำตัวเป็น regulator แต่ต้องการเป็น supporter หรือว่าเป็นคนอำนวยความสะดวกคอยสนับสนุนให้กับผู้ส่งออกทุกคน ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนหรือเกษตรกรบางส่วนก็ได้เข้ามาสู่ระบบ GAP หรือขึ้นทะเบียนกับกรมฯ อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนก็แล้วแต่ความสมัครใจของเกษตรกรแต่ละคน เพราะไม่ใช่ภาคบังคับ

ประการต่อมาที่เน้นย้ำสำหรับการส่งออก นั่นก็คือ คุณภาพ กับมาตรการสุขอนามัย สุขอนามัยพืช กล่าวคือ แมลงศัตรูพืช กับเรื่องสารตกค้าง กับเรื่องของการปนเปื้อน เมื่อโรงคัดบรรจุมีความเข้าใจในเรื่องนี้ สามารถที่จะตรวจสอบดูแลตัวเองได้ ขึ้นทะเบียนได้ กรมวิชาการเกษตรก็สามารถปล่อยมือได้เลย และทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตามมอนิเตอร์

นายชัยศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการขนส่งสินค้า ที่ถือเป็นจุดอ่อน -จุดเสี่ยง โดยในช่วงที่ผ่านมามีกรณีการแอบสวมสิทธิ์ -แอบเปิดตู้ระหว่างทาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็ได้สร้างซีลสร้างโลโก้ขึ้นมา แล้วไปสู่กระบวนการเจรจาบนโต๊ะ

“สิ่งเหล่านี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เรามีเชือกเป็นซัพพลายเซน เราไม่อยากผูกปมเพิ่มขึ้นมาปีละปมสองปม เราอยากให้เป็นซัพพลายเซนที่เป็นเชือกเส้นเดียวที่ไม่มีปมเลย อยากถอยสู่การกำกับดูแล อยากให้ทุกคนสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง อันนี้เป็นเป้าหมายของกรมวิชาการเกษตร ทุกคนสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ กรมวิชาการเกษตรมีเงื่อนไข มีกฎระเบียบ พร้อมซัพพอร์ท วันนี้มีช่องทางอยู่ การก้าวไปสู่จุดนั้นคือการร่วมมือร่วมใจของพวกเรา”นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าเกษตร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่เพียงพอ แต่ทุกฝ่ายต้องสมัครใจ ของทั้งห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดต้องสมัครใจ ร่วมกันในการรักษามาตรฐานของผลไม้ อาทิ ทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ จันทบุรีโมเดล ที่มีการคัดคุณภาพโดยความสมัครใจของ ล้ง และเกษตรกร หากพบทุเรียนอ่อนไม่ได้มาตรฐานจะมีการปรับ ๕๐๐ บาทต่อลูก ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีการรักษาคุณภาพ

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

การประชุมคณะทำงานเอกสารระบบคุณภาพรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธาน การประชุมคณะทำงานเอกสารระบบคุณภาพรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย นายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร, นายนพรัตน์ บัวหอม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช กองพัฒนาระบบ และรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๑ – ๘ เพื่อทบทวนเอกสารระบบคุณภาพรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ใช้เป็นแนวทางด้านการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ของกรมวิชาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

การประชุมทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานสินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธาน การประชุมทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานสินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย นายนพรัตน์ บัวหอม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๑ – ๘ เพื่อทบทวนและติดตามการปฏิบัติงานด้านการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ของกรมวิชาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามเป้าหมายการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ และวางแผนการดำเนินงานตรวจรับรองประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗

การประชุมคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม เอ ชั้น ๒ อาคาร กวป. และผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร สวพ.๑ เพื่อพิจารณาปรับแก้ไขข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน ๑๑ โครงการ ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบควบคุม กำกับ การตรวจสอบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ของหน่วยงาน ประจำปี ๒๕๖๘ – ๒๕๗๐ ตามมติคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖

การประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อพิจารณาผลการตรวจติดตามและประเมินห้องปฎิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช จำนวน ๕ แห่ง ผลการตรวจติดตามและประเมินบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ จำนวน ๒ ราย พิจารณาการยื่นขยายขอบข่ายการยอมรับความสามารถของห้องปฎิบัติการ จำนวน ๑ แห่ง และพิจารณาให้การยอมรับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบรายใหม่ จำนวน ๑ แห่ง เพื่อเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามในหนังสือการยอมรับความสามารถให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรอาหารด้านพืช ลำดับที่ ๒๑ ต่อไป

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พร้อมด้วยข้าราชการและพนักงานกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เข้าร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ ๑๐ รูป ณ บริเวณหน้าตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และกิจกรรมจิตอาสาปรับภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ ๕๕ พรรษา กรุงเทพมหานคร เพื่อถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๗๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗ ) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗ ) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมเอ ชั้น ๒ อาคารกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนการออกใบรับรองสุขอนามัย อายุไม่เกิน ๓๐ วัน และการขึ้นทะเบียนเพื่อจัดทำบัญชี รายชื่อโรงคัดบรรจุ ตามมาตรการควบคุมพิเศษ Establishment List และมอบนโยบายแนวทางการจัดการกรณีสหราชอาณาจักรเสนอออกมาตรการปรับเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ ๕๐ (จากเดิมร้อยละ ๒๐) ในพริก (Capsicum) ที่ไม่ใช่พริกหวานจากไทย (พริกสด พริกแช่เย็น และพริกแช่แข็ง) รวมถึงปัญหาสถิติการตรวจพบศัตรูพืช ณ ด่านตรวจพืช

ประชุมหารือเพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขกรณีการแจ้งเตือนสินค้าหน่อไม้ดองและมังคุดที่ไม่สอดคล้องตามกฎระเบียบนำเข้าของไต้หวัน

วันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์  รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขกรณีไต้หวันตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในหน่อไม้ดองและตรวจพบสารตกค้างในมังคุดที่ไม่สอดคล้องตามกฎระเบียบนำเข้าของไต้หวัน ณ อาคารกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร และผ่านโปรแกรม Zoom meeting  โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และผู้ประกอบการส่งออกสินค้าหน่อไม้ดองและมังคุดไปไต้หวันร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำที่อาจส่งผลให้ไต้หวันสั่งระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยชั่วคราวได้