ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขในการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนทางบก

ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขในการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนทางบก
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เส้นทางในการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทย (ไทย) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สามารถดำเนินการได้ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ โดยเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมาหลังจากมีการเปิดเส้นทางขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เพิ่มเติมจากการขนส่งโดยรถยนต์เท่านั้นในเส้นทางบกส่งผลให้การส่งออกผลไม้สดของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไทยและจีนมีการเพิ่มเติมชนิดของผลไม้สดของไทยที่ให้แลกเปลี่ยนทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุอีก 9 ชนิด รวมเป็น 22 ชนิด โดยรายละเอียดสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะส่งออกผลไม้สดของไทยไปจีนทางบก จะต้องปฏิบัติดังนี้

1. รายการชนิดของผลไม้สดที่อนุญาตให้ส่งออกจะต้องเป็นไปตามรายการที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดร่วมกัน โดยผลไม้สดของไทยจำนวน 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม, น้อยหน่า มะละกอ, มะเฟือง, ฝรั่ง, เงาะ, ชมพู่, ขนุน, ลองกอง, สับปะรด, ละมุด กล้วย, เสาวรส, มะพร้าว, ลำไย, ทุเรียน, มะม่วง, ลิ้นจี่, มังคุด และส้ม (ส้มเปลือกล่อน, ส้ม, ส้มโอ) ผลไม้สดต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แล้วเท่านั้น กรณีชมพู่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการส่งออกในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลชมพู่สดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2559 โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ สวนชมพู่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) จากกรมวิชาการเกษตร ผลชมพู่ต้องห่อผลด้วยถุงห่อผลที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด และต้องไม่มีการปนเปื้อนของแมลงวันผลไม้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการสุ่มตรวจสินค้าชมพู่ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ก่อนจะส่งออกไปจีนสำหรับเสาวรสผลสดสีม่วง (Passiflora edulis) ที่จีนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าจากไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างจัดทำประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกเสาวรสผลสดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน

2. ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน หมายเลขทะเบียน CNXXXX (ทะเบียน CN) จากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) กรมวิชาการเกษตรสำหรับผู้ส่งออกทุเรียนสดและลำไยสดนอกจากทะเบียน CN ดังกล่าวแล้วยังต้องจดทะเบียนผู้ส่งออกหมายเลขทะบียน DU-1-XX-XXX และทะเบียน LO-2-XX-XXX ตามลำดับด้วย นอกจากนี้ผู้ส่งออกทุเรียนต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2563 เช่น ทุเรียนทุกผลต้องมีสติกเกอร์ติดขั้วผล เป็นต้น
ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ กมพ. กรมวิชาการเกษตร http://www.doa.go.th/psco/

3. บรรจุภัณฑ์ต้องใหม่และสะอาด และอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้ควบคุมอุณหภูมิ โดยฉลากบนบรรจุภัณฑ์จะต้องระบุข้อความ ได้แก่ ชื่อบริษัทผู้ส่งออก ชื่อผลไม้ เลขทะเบียนสวน (รหัส GAP) เลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (รหัส DOA) วันที่บรรจุ และระบุข้อความตามที่กำหนดในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ตู้ขนส่งผลไม้ต้องปิดตราผนึก (ซีล) ของกรมวิชาการเกษตรตามรูปแบบที่กำหนดและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกเปิดระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่สามจนถึงด่านนำเข้าของจีน

4. เอกสารที่เกี่ยวข้องและต้องมีกำกับสินค้าทุกครั้ง ได้แก่ ใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate; PC) และใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate; HC) เฉพาะลำไยและมะละกอ
4.1. ใบ PC ต้องมีกำกับในทุกชนิดผลไม้ที่ระบุข้อความตามที่กำหนด ได้แก่ ระบุวันที่ตรวจหมายเลขตราผนึก หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ และข้อความรับรองพิเศษ อนึ่ง กรณีชมพู่จะมีการระบุหมายเลขทะเบียนสวน และจำนวนตะกร้า/กล่อง) เพิ่มเติม โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 โดยใบ PC มีอายุ 10 วันนับตั้งแต่วันที่ออก
4.2. ในกรณีลำไยและมะละกอต้องขอใบ HC เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอ PC ในข้อ 4.1 เพิ่มเติม โดย ลำไยต้องมีใบ HC ที่รับรองปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างและมะละกอจะต้องมีใบ HC ที่รับรอง non-GMOs

5. ผลไม้สดของไทยต้องส่งออกทางบกจากด่านตรวจที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเท่านั้น ดังนี้
5.1. ด่านตรวจพืชของไทย จำนวน 6 ด่าน ได้แก่ ด่านเชียงของ ด่านบึงกาฬ ด่านนครพนม ด่านมุกดาหารจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาดของด่านจันทบุรี ด่านหนองคาย
5.2. ด่านตรวจของจีน จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ ด่านโม่ฮาน (Mohan Port) ด่านรถไฟโม่ฮาน (Mohan Railway Station Port) ด่านเหอโข่ว (Hekou Port) ด่านรถไฟเหอโข่ว (Hekou Railway Station Port) ด่านเทียนเป่า (Tianbao Port) ด่านโหย่วกวน (Youyiguan Port) ด่านรถไฟผิงเสียง (Pixiang Railway Station Port) ด่านตงซิง (Dongxing Port) ด่านหลังปัง (Longbang Port) ด่านสุ่ยโข่ว (Shuikou Port)

6. ด่านส่งออกตามที่กำหนดทั้งสองฝ่ายต้องส่งสำเนาใบ PC ล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงให้กับ GACC ณ จุดนำเข้าของจีน ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto)

7. เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงด่านนำเข้าของจีน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความสมบูรณ์ของการปิดผนึกตู้สินค้า เอกสารที่เกี่ยวข้อง ความถูกต้องสมบูรณ์ของตู้สินค้า โดย
7.1. หากพบว่าใบ PC ปลอม หรือข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 4 สินค้านั้นจะถูกปฏิเสธการนําเข้า
7.2. หากพบว่าใบ PC และชนิดสินค้าไม่ตรงกัน ตราผนึกถูกทำลาย หรือพบการปลอมปนผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอื่น สินค้านั้นจะถูกส่งกลับ หรือนำไปทำลาย

8. หากพบสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดของไทย จีนหรือที่ตกลงร่วมกัน หรือ ตรวจพบศัตรูพืชกักกันอยู่ในข้อกังวล หรือพบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นใดในการส่งออกหรือนำเข้า สินค้านั้นจะถูกส่งกลับ หรือนำไปทำลาย หรือผ่านขั้นตอนการกำจัดศัตรูพืชในสถานที่ที่เหมาะสม 

การประชุมระดมความเห็น เรื่อง “ตลาดนำการผลิต: เพิ่มโอกาสผักและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ”

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ประชุมระดมความเห็นเรื่อง “ตลาดนำการผลิต: เพิ่มโอกาสผักและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ” ร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ ผู้แทนสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย รวมผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 144 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยการประชุมระดมความเห็นในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกผักและผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงคัดบรรจุ ไปจนถึงการส่งออก จำนวน 47 บริษัทฯ ได้รับทราบเงื่อนไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการส่งออกผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยอาหารของประเทศคู่ค้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการขยายโอกาสการเปิดตลาดผักและผลไม้ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดร่วมกันต่อไป

ปรับปรุงคู่มือ ครั้งที่ ๔ ในการให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ปรับปรุงคู่มือ ครั้งที่ ๔ ในการให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก หลังจากคณะทำงานพิจารณาการออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าเกษตรแปรรูปด้านพืช มีมติเคาะ แก้ไข เนื้อหาสาระสำคัญ พร้อมเอกสารและแบบฟอร์ม ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสำหรับการใช้งาน โดยมีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้
– แบบฟอร์มคำร้องขอออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก
– แบบฟอร์มรับรองการสุ่มเก็บตัวอย่าง
– แบบฟอร์มรายละเอียดของผู้ประกอบการ
– แบบฟอร์มรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และแบบฟอร์ม ใบ Health Certificate
ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังต่างประเทศต้องรู้ และต้องศึกษาคู่มือดังกล่าว โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารคู่มือดังกล่าวที่หน้าเว็บไซต์ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช

การประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗) ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗)
ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมเอ ชั้น ๒ อาคารกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนการออกใบรับรองสุขอนามัย อายุไม่เกิน ๓๐ วัน การขึ้นทะเบียนเพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุตามมาตรการควบคุมพิเศษ Establishment List และการปรับแก้ไข (ร่าง) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ การขอรับและการออกใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ พ.ศ. ๒๕๖๗

NAQS และ MAFRA จากสาธารณรัฐเกาหลี เยี่ยมชมงานด้านสารพิษตกค้าง ของกรมวิชาการเกษตร

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช มอบหมายให้นางพัจนา สุภาสูรย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Products Quality Management Services: NAQS) กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท (Ministry of Agricultural, Food and Rural Affairs : MAFRA) สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกระบวนการจัดการความปลอดภัยสินค้าเกษตร และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านสารพิษตกค้างในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตร ในการพัฒนาคุณภาพตรวจสอบรับรอง กระบวนการจัดการและพัฒนาตลาดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืช”

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืช” โดยกรมวิชาการเกษตร นำเสนอนิทรรศการผลงานเด่น อาทิ

– โครงการพัฒนายกระดับเทคโนโลยี มาตรฐานและเครื่องมือห้องปฏิบัติการ โรงเรือน แปลงผลิตพืช และการทดสอบทางการเกษตร (DOA Future Lab)
– DOA – Mushchar ผลิตภัณฑ์ไบโอชาร์จากก้อนเห็ดเก่า เพิ่มผลผลิตเห็ด ลดขยะเหลือศูนย์
– โปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟาง :นวัตกรรมจากพืชสู่ความงามที่ยั่งยืน
– การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล (ทุเรียน, มะม่วง) พืชอุตสาหกรรม (กาแฟ, โกโก้) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหาร เวชสำอาง บรรจุภัณฑ์ และถ่านชีวภาพ
– กฤษณา ไม้มีค่า อนาคตไกล
– อากาศยานไร้คนขับกับงานอารักขาพืช
– การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร
– อ้อยพันธุ์ใหม่ กวก ขอนแก่น ๔
– สับปะรดเพชรบุรี กวก ๒ สับปะรดสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป
– พืชไร่พันธุ์ดี อาหารมั่นคง
– การผลิตขยายเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
– สุดยอดกาแฟไทยยกระดับกาแฟให้เลื่องลือ
ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมบรรยายนิทรรศการ ณ ห้องประชุม ๑๑๕ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๙/๒๕๖๖

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๙/๒๕๖๖ คณะกรรมการฯ ประเด็นการหารือเพื่อพิจารณาผลการตรวจติดตามและประเมินบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ จำนวน ๒ ครั้ง จัดทำแผนการตรวจติดตามและประเมินผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ พิจารณาการยื่นขยายขอบข่ายและขอแก้ไขขอบข่ายการยอมรับความสามารถของห้องปฎิบัติการ จำนวน ๓ แห่ง และพิจารณาการต่ออายุหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ จำนวน ๑ แห่ง เพื่อเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามในหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ และหนังสือขอบข่ายการยอมรับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรอาหารด้านพืช ต่อไป

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความสิริมงคล และถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙ รูป

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และนายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ร่วมกับกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของทั้ง ๒ หน่วยงาน ร่วมกันทำบุญพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความสิริมงคลและถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙ รูป เสริมขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลกร ณ ตึกแปดชั้น กรมวิชาการเกษตร

กมพ.คว้ารางวัล DOA TOGETHER AWARD และผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ รวม ๓ รางวัล

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และนายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรร่วมแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่และบุคลากรกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ที่ได้รางวัล DOA TOGETHER AWARD ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ด้านงานวิจัยและการตอบสนองผู้รับบริการโดยการนำนวัตกรรมจากงานวิจัย เรื่อง การจัดชั้นคุณภาพเมล็ดกาแฟทางกายภาพและประสาทสัมผัสมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำกระดาษคัดเกรด (Green Coffee Grading Guide) และได้แสดงความยินดีกับคณะผู้วิจัยกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กตม.) ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทงานบริการวิชาการ ระดับดีเด่น เรื่อง “การขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสินค้าอาหารส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามระเบียบ ๒๔๘ ภายใต้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร” รวมถึงคณะผู้วิจัยกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า (กคส.) ได้รับรางวัลผู้ร่วมวิจัย ระดับชมเชยประเภทงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ในงานวิจัยเรื่อง “แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟเชอร์รีในระยะที่เหมาะสม” ซึ่งมีการมอบรางวัลโดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

การประชุมคณะทำงานทบทวนหลักเกณฑ์และพิจารณา ขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชอินทรีย์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานทบทวนหลักเกณฑ์และพิจารณา ขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชอินทรีย์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพการผลิตพืช คณะทำงานจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชพืชอินทรีย์ และขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตที่สามารถใช้ในการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์