ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขในการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนทางบก
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เส้นทางในการส่งออกผลไม้สดจากประเทศไทย (ไทย) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สามารถดำเนินการได้ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ โดยเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมาหลังจากมีการเปิดเส้นทางขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เพิ่มเติมจากการขนส่งโดยรถยนต์เท่านั้นในเส้นทางบกส่งผลให้การส่งออกผลไม้สดของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไทยและจีนมีการเพิ่มเติมชนิดของผลไม้สดของไทยที่ให้แลกเปลี่ยนทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุอีก 9 ชนิด รวมเป็น 22 ชนิด โดยรายละเอียดสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะส่งออกผลไม้สดของไทยไปจีนทางบก จะต้องปฏิบัติดังนี้
1. รายการชนิดของผลไม้สดที่อนุญาตให้ส่งออกจะต้องเป็นไปตามรายการที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดร่วมกัน โดยผลไม้สดของไทยจำนวน 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม, น้อยหน่า มะละกอ, มะเฟือง, ฝรั่ง, เงาะ, ชมพู่, ขนุน, ลองกอง, สับปะรด, ละมุด กล้วย, เสาวรส, มะพร้าว, ลำไย, ทุเรียน, มะม่วง, ลิ้นจี่, มังคุด และส้ม (ส้มเปลือกล่อน, ส้ม, ส้มโอ) ผลไม้สดต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แล้วเท่านั้น กรณีชมพู่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการส่งออกในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลชมพู่สดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2559 โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ สวนชมพู่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) จากกรมวิชาการเกษตร ผลชมพู่ต้องห่อผลด้วยถุงห่อผลที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด และต้องไม่มีการปนเปื้อนของแมลงวันผลไม้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการสุ่มตรวจสินค้าชมพู่ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ก่อนจะส่งออกไปจีนสำหรับเสาวรสผลสดสีม่วง (Passiflora edulis) ที่จีนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าจากไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างจัดทำประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกเสาวรสผลสดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน หมายเลขทะเบียน CNXXXX (ทะเบียน CN) จากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) กรมวิชาการเกษตรสำหรับผู้ส่งออกทุเรียนสดและลำไยสดนอกจากทะเบียน CN ดังกล่าวแล้วยังต้องจดทะเบียนผู้ส่งออกหมายเลขทะบียน DU-1-XX-XXX และทะเบียน LO-2-XX-XXX ตามลำดับด้วย นอกจากนี้ผู้ส่งออกทุเรียนต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2563 เช่น ทุเรียนทุกผลต้องมีสติกเกอร์ติดขั้วผล เป็นต้น
ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ กมพ. กรมวิชาการเกษตร http://www.doa.go.th/psco/
3. บรรจุภัณฑ์ต้องใหม่และสะอาด และอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้ควบคุมอุณหภูมิ โดยฉลากบนบรรจุภัณฑ์จะต้องระบุข้อความ ได้แก่ ชื่อบริษัทผู้ส่งออก ชื่อผลไม้ เลขทะเบียนสวน (รหัส GAP) เลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (รหัส DOA) วันที่บรรจุ และระบุข้อความตามที่กำหนดในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ตู้ขนส่งผลไม้ต้องปิดตราผนึก (ซีล) ของกรมวิชาการเกษตรตามรูปแบบที่กำหนดและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกเปิดระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่สามจนถึงด่านนำเข้าของจีน
4. เอกสารที่เกี่ยวข้องและต้องมีกำกับสินค้าทุกครั้ง ได้แก่ ใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate; PC) และใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate; HC) เฉพาะลำไยและมะละกอ
4.1. ใบ PC ต้องมีกำกับในทุกชนิดผลไม้ที่ระบุข้อความตามที่กำหนด ได้แก่ ระบุวันที่ตรวจหมายเลขตราผนึก หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ และข้อความรับรองพิเศษ อนึ่ง กรณีชมพู่จะมีการระบุหมายเลขทะเบียนสวน และจำนวนตะกร้า/กล่อง) เพิ่มเติม โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 โดยใบ PC มีอายุ 10 วันนับตั้งแต่วันที่ออก
4.2. ในกรณีลำไยและมะละกอต้องขอใบ HC เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอ PC ในข้อ 4.1 เพิ่มเติม โดย ลำไยต้องมีใบ HC ที่รับรองปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างและมะละกอจะต้องมีใบ HC ที่รับรอง non-GMOs
5. ผลไม้สดของไทยต้องส่งออกทางบกจากด่านตรวจที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเท่านั้น ดังนี้
5.1. ด่านตรวจพืชของไทย จำนวน 6 ด่าน ได้แก่ ด่านเชียงของ ด่านบึงกาฬ ด่านนครพนม ด่านมุกดาหารจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาดของด่านจันทบุรี ด่านหนองคาย
5.2. ด่านตรวจของจีน จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ ด่านโม่ฮาน (Mohan Port) ด่านรถไฟโม่ฮาน (Mohan Railway Station Port) ด่านเหอโข่ว (Hekou Port) ด่านรถไฟเหอโข่ว (Hekou Railway Station Port) ด่านเทียนเป่า (Tianbao Port) ด่านโหย่วกวน (Youyiguan Port) ด่านรถไฟผิงเสียง (Pixiang Railway Station Port) ด่านตงซิง (Dongxing Port) ด่านหลังปัง (Longbang Port) ด่านสุ่ยโข่ว (Shuikou Port)
6. ด่านส่งออกตามที่กำหนดทั้งสองฝ่ายต้องส่งสำเนาใบ PC ล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงให้กับ GACC ณ จุดนำเข้าของจีน ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto)
7. เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงด่านนำเข้าของจีน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความสมบูรณ์ของการปิดผนึกตู้สินค้า เอกสารที่เกี่ยวข้อง ความถูกต้องสมบูรณ์ของตู้สินค้า โดย
7.1. หากพบว่าใบ PC ปลอม หรือข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 4 สินค้านั้นจะถูกปฏิเสธการนําเข้า
7.2. หากพบว่าใบ PC และชนิดสินค้าไม่ตรงกัน ตราผนึกถูกทำลาย หรือพบการปลอมปนผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอื่น สินค้านั้นจะถูกส่งกลับ หรือนำไปทำลาย
8. หากพบสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดของไทย จีนหรือที่ตกลงร่วมกัน หรือ ตรวจพบศัตรูพืชกักกันอยู่ในข้อกังวล หรือพบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นใดในการส่งออกหรือนำเข้า สินค้านั้นจะถูกส่งกลับ หรือนำไปทำลาย หรือผ่านขั้นตอนการกำจัดศัตรูพืชในสถานที่ที่เหมาะสม