ประชุมหารือมาตรการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อการส่งออก

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรมวิชาการเกษตร ประชุมเพื่อหารือในระดับนโยบาย ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทูตเกษตร สมาคมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการส่งออก เกษตรกร นักวิชาการอิสระ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๒๐๙ คน การประชุมระดับนโยบายมีผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชเป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อให้การบริหารจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนครอบคลุมในทุกมิติ โดยใช้กลไกของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ซึ่งเป็นคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวอย่างมาตรการระยะเร่งด่วน มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาผลผลิตพร้อมที่จะตัดออกจากสวนของเกษตรกร จึงกำหนดมาตรการ ให้มีการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยง จากแปลงเกษตรกร ได้แก่ การกำหนดมาตรการ ๔ กรอง
๑. การคัดทุเรียนคุณภาพ ให้เริ่มต้นจากสวน เช่น แยกแปลงที่มีการดูแลการกำจัด และควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี ซึ่งผลผลิตจะเรียกว่า ”ทุเรียนหนามเขียว”ต้องตัดผลผลิตที่มีคุณภาพ ให้บ่มเพื่อให้หนอนนออกมา และคัดลูกที่มีหนอนออก และนำผลผลิตที่คุณภาพสมบูรณ์ ส่งขายโรงคัดบรรจุ
๒. ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ หรือล้งเพิ่มขั้นตอนในการคัดทุเรียนที่มีหนอนติดมาโดยการบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา แล้วกำจัดหนอน
๓. นายตรวจพืชเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่ม ณ โรงคัดบรรจุ
๔. เปิดตรวจสอบ ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง ทั้งทางบกทางเรือ ทางอากาศ ทุกชิปเมนท์รับรองก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงช่องทางจำหน่ายทุเรียนสดที่มีความเสี่ยงจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนต้องจำหน่ายไปยังตลาดบริโภคภายในประเทศ โรงงานแปรรูป เป็นทุเรียนทอด หรือทุเรียนกวน หรือการแกะเนื้อทุเรียนแช่แข็งเพื่อส่งออก ซึ่งมีหน่วยงานพร้อมให้การเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงพานิชย์ ส่วนราชการในจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูป