การประชุมระดมความเห็น เรื่อง “ตลาดนำการผลิต: เพิ่มโอกาสผักและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ”

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ประชุมระดมความเห็นเรื่อง “ตลาดนำการผลิต: เพิ่มโอกาสผักและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ” ร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ ผู้แทนสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย รวมผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 144 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยการประชุมระดมความเห็นในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกผักและผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงคัดบรรจุ ไปจนถึงการส่งออก จำนวน 47 บริษัทฯ ได้รับทราบเงื่อนไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการส่งออกผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยอาหารของประเทศคู่ค้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการขยายโอกาสการเปิดตลาดผักและผลไม้ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดร่วมกันต่อไป

ปรับปรุงคู่มือ ครั้งที่ ๔ ในการให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ปรับปรุงคู่มือ ครั้งที่ ๔ ในการให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก หลังจากคณะทำงานพิจารณาการออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าเกษตรแปรรูปด้านพืช มีมติเคาะ แก้ไข เนื้อหาสาระสำคัญ พร้อมเอกสารและแบบฟอร์ม ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสำหรับการใช้งาน โดยมีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้
– แบบฟอร์มคำร้องขอออกใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก
– แบบฟอร์มรับรองการสุ่มเก็บตัวอย่าง
– แบบฟอร์มรายละเอียดของผู้ประกอบการ
– แบบฟอร์มรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และแบบฟอร์ม ใบ Health Certificate
ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังต่างประเทศต้องรู้ และต้องศึกษาคู่มือดังกล่าว โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารคู่มือดังกล่าวที่หน้าเว็บไซต์ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช

การประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗) ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานประชุมคณะทำงานพิจารณา กำกับ ดูแล ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ (ฉบับที่ ๗)
ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมเอ ชั้น ๒ อาคารกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนการออกใบรับรองสุขอนามัย อายุไม่เกิน ๓๐ วัน การขึ้นทะเบียนเพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุตามมาตรการควบคุมพิเศษ Establishment List และการปรับแก้ไข (ร่าง) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ การขอรับและการออกใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ พ.ศ. ๒๕๖๗

NAQS และ MAFRA จากสาธารณรัฐเกาหลี เยี่ยมชมงานด้านสารพิษตกค้าง ของกรมวิชาการเกษตร

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช มอบหมายให้นางพัจนา สุภาสูรย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Products Quality Management Services: NAQS) กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท (Ministry of Agricultural, Food and Rural Affairs : MAFRA) สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกระบวนการจัดการความปลอดภัยสินค้าเกษตร และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านสารพิษตกค้างในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตร ในการพัฒนาคุณภาพตรวจสอบรับรอง กระบวนการจัดการและพัฒนาตลาดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืช”

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืช” โดยกรมวิชาการเกษตร นำเสนอนิทรรศการผลงานเด่น อาทิ

– โครงการพัฒนายกระดับเทคโนโลยี มาตรฐานและเครื่องมือห้องปฏิบัติการ โรงเรือน แปลงผลิตพืช และการทดสอบทางการเกษตร (DOA Future Lab)
– DOA – Mushchar ผลิตภัณฑ์ไบโอชาร์จากก้อนเห็ดเก่า เพิ่มผลผลิตเห็ด ลดขยะเหลือศูนย์
– โปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟาง :นวัตกรรมจากพืชสู่ความงามที่ยั่งยืน
– การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล (ทุเรียน, มะม่วง) พืชอุตสาหกรรม (กาแฟ, โกโก้) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหาร เวชสำอาง บรรจุภัณฑ์ และถ่านชีวภาพ
– กฤษณา ไม้มีค่า อนาคตไกล
– อากาศยานไร้คนขับกับงานอารักขาพืช
– การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร
– อ้อยพันธุ์ใหม่ กวก ขอนแก่น ๔
– สับปะรดเพชรบุรี กวก ๒ สับปะรดสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป
– พืชไร่พันธุ์ดี อาหารมั่นคง
– การผลิตขยายเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
– สุดยอดกาแฟไทยยกระดับกาแฟให้เลื่องลือ
ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมบรรยายนิทรรศการ ณ ห้องประชุม ๑๑๕ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๙/๒๕๖๖

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช ครั้งที่ ๙/๒๕๖๖ คณะกรรมการฯ ประเด็นการหารือเพื่อพิจารณาผลการตรวจติดตามและประเมินบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ จำนวน ๒ ครั้ง จัดทำแผนการตรวจติดตามและประเมินผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ พิจารณาการยื่นขยายขอบข่ายและขอแก้ไขขอบข่ายการยอมรับความสามารถของห้องปฎิบัติการ จำนวน ๓ แห่ง และพิจารณาการต่ออายุหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ จำนวน ๑ แห่ง เพื่อเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามในหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ และหนังสือขอบข่ายการยอมรับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรอาหารด้านพืช ต่อไป

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความสิริมงคล และถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙ รูป

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และนายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ร่วมกับกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของทั้ง ๒ หน่วยงาน ร่วมกันทำบุญพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความสิริมงคลและถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙ รูป เสริมขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลกร ณ ตึกแปดชั้น กรมวิชาการเกษตร

กมพ.คว้ารางวัล DOA TOGETHER AWARD และผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ รวม ๓ รางวัล

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และนายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรร่วมแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่และบุคลากรกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ที่ได้รางวัล DOA TOGETHER AWARD ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ด้านงานวิจัยและการตอบสนองผู้รับบริการโดยการนำนวัตกรรมจากงานวิจัย เรื่อง การจัดชั้นคุณภาพเมล็ดกาแฟทางกายภาพและประสาทสัมผัสมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำกระดาษคัดเกรด (Green Coffee Grading Guide) และได้แสดงความยินดีกับคณะผู้วิจัยกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กตม.) ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทงานบริการวิชาการ ระดับดีเด่น เรื่อง “การขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสินค้าอาหารส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามระเบียบ ๒๔๘ ภายใต้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร” รวมถึงคณะผู้วิจัยกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า (กคส.) ได้รับรางวัลผู้ร่วมวิจัย ระดับชมเชยประเภทงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ในงานวิจัยเรื่อง “แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟเชอร์รีในระยะที่เหมาะสม” ซึ่งมีการมอบรางวัลโดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

การประชุมคณะทำงานทบทวนหลักเกณฑ์และพิจารณา ขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชอินทรีย์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานทบทวนหลักเกณฑ์และพิจารณา ขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชอินทรีย์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพการผลิตพืช คณะทำงานจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตพืชพืชอินทรีย์ และขึ้นทะเบียนปัจจัยการผลิตที่สามารถใช้ในการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประชุมหารือมาตรการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อการส่งออก

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรมวิชาการเกษตร ประชุมเพื่อหารือในระดับนโยบาย ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทูตเกษตร สมาคมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการส่งออก เกษตรกร นักวิชาการอิสระ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๒๐๙ คน การประชุมระดับนโยบายมีผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชเป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อให้การบริหารจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนครอบคลุมในทุกมิติ โดยใช้กลไกของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ซึ่งเป็นคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวอย่างมาตรการระยะเร่งด่วน มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาผลผลิตพร้อมที่จะตัดออกจากสวนของเกษตรกร จึงกำหนดมาตรการ ให้มีการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยง จากแปลงเกษตรกร ได้แก่ การกำหนดมาตรการ ๔ กรอง
๑. การคัดทุเรียนคุณภาพ ให้เริ่มต้นจากสวน เช่น แยกแปลงที่มีการดูแลการกำจัด และควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี ซึ่งผลผลิตจะเรียกว่า ”ทุเรียนหนามเขียว”ต้องตัดผลผลิตที่มีคุณภาพ ให้บ่มเพื่อให้หนอนนออกมา และคัดลูกที่มีหนอนออก และนำผลผลิตที่คุณภาพสมบูรณ์ ส่งขายโรงคัดบรรจุ
๒. ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ หรือล้งเพิ่มขั้นตอนในการคัดทุเรียนที่มีหนอนติดมาโดยการบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา แล้วกำจัดหนอน
๓. นายตรวจพืชเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่ม ณ โรงคัดบรรจุ
๔. เปิดตรวจสอบ ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง ทั้งทางบกทางเรือ ทางอากาศ ทุกชิปเมนท์รับรองก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงช่องทางจำหน่ายทุเรียนสดที่มีความเสี่ยงจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนต้องจำหน่ายไปยังตลาดบริโภคภายในประเทศ โรงงานแปรรูป เป็นทุเรียนทอด หรือทุเรียนกวน หรือการแกะเนื้อทุเรียนแช่แข็งเพื่อส่งออก ซึ่งมีหน่วยงานพร้อมให้การเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงพานิชย์ ส่วนราชการในจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูป