สวพ.6 รับนโยบายส่งออกผลไม้ กระทรวงเกษตร ฯ เตรียมการเชิงรุก Kick off เปิดฤดูกาลผลไม้ ปี 66 “ผลไม้ส่งออกมีคุณภาพ โรงคัดบรรจุต้องได้มาตรฐาน เข้มข้นตรวจอ่อน-แก่ ทุเรียน”

          วันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุม และมอบนโยบายของกรมวิชาการเกษตร
ด้านการส่งออกผลไม้ ผ่านการประชุมทางไกลระบบอิเล็กทรอนิกส์ Zoom meeting และมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมเป็นประธานและมอบนโยบายด้านการส่งออกผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี
          ในการประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ ฤดูกาลผลิต ปี 2566 ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย
          ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด จำนวนกว่า 400 ราย ทั้งนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้จัดประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออกผลไม้ สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน มกษ. 9047-2560 มาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู มาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ มาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ และการตรวจ GMP Plus แนวทางการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก (PC) และขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ผู้ประกอบการต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการดำเนินการต่างๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตผลไม้ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกทุเรียนไปจีนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรโดยตรง จึงสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผัก ผลไม้ไทย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ คุณภาพผักและผลไม้ไทย (คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 2035/2565 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2565) มีหน้าที่และอำนาจ ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพผักและผลไม้เพื่อการนำเข้าและส่งออก ให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน ตลอดจนมีอำนาจในการสั่งพักใช้ เพิกถอน ใบรับรอง (GAP) หรือระงับ ยกเลิก หนังสือแสดงการขึ้นทะเบียน (DOA) แล้วแต่กรณี เมื่อตรวจพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร และกฎ ระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ มนัญญา ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงคุณภาพผักและผลไม้ของไทย โดยเฉพาะทุเรียนส่งออก หากพบส่งทุเรียนด้อยคุณภาพจะไม่อนุญาตให้ส่งออกอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร พร้อมกับได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อเข้าตรวจสวนและโรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด หากพบสวนใดมีการตัดทุเรียนอ่อนหรือยินยอมให้สวมสิทธิแปลงการผลิตที่ดี (GAP) ให้ดำเนินการเพิกถอนการรับรองแปลงทันที รวมถึงโรงคัดบรรจุที่รับซื้อทุเรียนอ่อนหรือสวมสิทธิแปลง GAP ให้เพิกถอนการรับรองการเป็นโรงคัดบรรจุที่ดี (GMP) โดยต้องไม่ผ่อนปรนอย่างเด็ดขาด

          นายพิทวัฒน์  อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยว่า
ที่ผ่านมาสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ได้เตรียมความพร้อมรับการตรวจประเมินระยะไกล
ผ่านระบบ Video Conference จากสำนักงานการศุลกากร สาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs China) หรือ GACC อยู่เป็นระยะ เนื่องจากทางการจีนจะแจ้งให้ฝ่ายไทยตรวจสอบหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข เมื่อจีนตรวจพบศัตรูพืชควบคุม โดยจะแจ้งขอตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุที่ส่งออกผลไม้ดังกล่าว และในส่วนของการตรวจปิดตู้คอนเทนเนอร์ของด่านตรวจพืชจันทบุรี กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแผนรองรับในช่วงที่มีผลผลิตส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้กระบวนการส่งออกมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และหากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เชื่อว่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งออกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งออกผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลไม้ที่ส่งออกมีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และประเทศชาติต่อไป

          จากข้อมูลการปลูกไม้ผลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด พบว่ามีการปลูกไม้ผลส่งออกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย พื้นที่รวมกว่า 7 แสนไร่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่งออกประมาณ 1.3 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในส่วนของลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนทุเรียนและมังคุด ผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งสิ้น 1,932 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 768 โรง ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี 698 โรง ซึ่งแจ้งคัดบรรจุทุเรียน 559 โรงคัดบรรจุมังคุด 265 โรง และคัดบรรจุลำไย 98 โรง ตามลำดับ

มาตรการควบคุมทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ทั้งในระดับสวน ในโรงคัดบรรจุ และตลาดภายในประเทศ (ค้าส่ง- ค้าปลีก)

  1. ประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่องกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ในฤดูกาลผลิตปี 2566 ลงวันที่ 24 มกราคม 2566 ได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566 พันธุ์หมอนทอง วันที่ 15 เมษายน 2566 หากจะตัดทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่กำหนด สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องแจ้งด่านตรวจพืช หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เข้าตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก
  2. ประกาศจังหวัด เรื่อง การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ลงวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ทุเรียน (มกษ 3-2556) ดังนี้ พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 %
    พันธุ์พวงมณี และพันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 % พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 % หากเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง
    มือตัด พ่อค้าปลีกและโรงคัดบรรจุ ผู้ใดจำหน่ายทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่ากำหนด จะมีความผิดตามกฎหมาย
  3. ประกาศจังหวัด เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัดจันทบุรี
    ลงวันที่ 24 มกราคม 2566 เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อให้เกษตรกร มือตัด แผงรับซื้อ และผู้ประกอบการ (ล้ง) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตัด การซื้อขายทุเรียน และยกระดับคุณภาพของทุเรียนจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการตรวจก่อนตัด
    (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดจันทบุรี จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร มือตัด จุดบริการตรวจก่อนตัด ล้ง เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบคุณภาพก่อนปิดตู้ส่งออก (ทีมเล็บเหยี่ยว) และแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดจันทบุรีกำหนด
  4. คำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 288/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด ลงวันที่ 24 มกราคม 2566 จัดตั้งชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัดทำหน้าที่สนับสนุน และตั้งจุดให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง แก่เกษตรกร ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

          ทั้งนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้จัดชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ โดยก่อนกำหนดวันประกาศเก็บเกี่ยวทุเรียนจะทำการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนทุกตู้
คอนเทนเนอร์ส่งออก และหลังประกาศวันเก็บเกี่ยวจะทำการแบ่งเกรดสีโรงคัดบรรจุตามข้อมูลผลการตรวจก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว (สีเขียว สีเหลือง สีแดง) และใช้วิธีสุ่มตรวจ โดยจะตรวจเข้มข้นในกลุ่มโรงคัดบรรจุสีแดง และสีเหลือง

          บทกำหนดโทษ : เกษตรกร มือตัดทุเรียน พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ใดจำหน่ายทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ต่ำกว่าที่ประกาศไว้ในประกาศจังหวัด จะเข้าข่ายความผิดดังนี้  

  1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
  2. ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
  3. เกษตรกร อาจถูกลดขอบข่าย พักใช้ หรือเพิกถอน ใบรับรอง GAP

4. ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) อาจถูกระงับ หรือยกเลิกหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA)