รองอธิบดีฯ กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จันทบุรี คุมเข้มคุณภาพมาตรฐานลำไยส่งออก กำกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพลี้ยแป้ง ควบคู่มาตรการ COVID-19 พร้อมเดินหน้าปรับรหัสสวน GAP รูปแบบใหม่ ป้องกันการสวมสิทธิ์ ให้ทันการขึ้นทะเบียนส่งออกจีน

        นางเกษสิริ  ฉันทพิริยะพูน ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สวพ.6 และนายอลงกต อุทัยธนกิจ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.6 พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมตาม พ.ร.บ. และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้การต้อนรับ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและคณะ ได้แก่ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ผู้แทนจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พบปะผู้แทนสมาคมชาวสวนลำไย และสมาคมผู้ประกอบการส่งออกลำไย รวมทั้งมอบใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ ให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย ในพื้นที่ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ณ ด่านตรวจพืชจันทบุรี จากนั้นได้รับฟังการบรรยายสรุปภารกิจการตรวจสอบศัตรูพืชลำไยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ Covid-19 ในแปลง GAP และโรงคัดบรรจุลำไยฤดูกาลผลิต 2565/2566 โดยในภาคบ่ายได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพลำไย การตรวจสอบศัตรูพืช เพื่อการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและการดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุลำไย ณ โรงคัดบรรจุ บริษัทไทยโทนพญานาค จำกัด และ โรงคัดบรรจุ บริษัทโซ่ซินหยวน อิมพอร์ต เอกซ์พอร์ต(ไทยแลนด์)จำกัด ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมแปลงจีเอพีลำไย ของเกษตรกรจำนวน ๒ แปลง ของนางสมฤดี สีละคุณ หมู่ 18 ตำบลทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และ นางสุดา จันที่นอก หมู่ 7 ตำบลสะตอน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

         สำหรับการดำเนินงานตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช จีเอพี พืชลำไย ปี 2566 ของจังหวัดจันทบุรี มีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเข้าสู่ระบบจีเอพี 20,000 แปลง จำนวน 16,011 ราย พื้นที่ปลูก 345,842.98 ไร่ ผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพีแล้ว 18,780 แปลง คิดเป็นร้อยละ 96.51 โดย สวพ.6 ได้ดำเนินการเปลี่ยนเป็นแปลงรับรอง GAP รหัสรูปแบบใหม่แล้ว 14,503แปลง คิดเป็นร้อยละ 72.52 ทั้งนี้จำนวนแปลงรับรอง GAP พืชทุกชนิดทั้งหมดในความรับผิดชอบของ สวพ.6 ดำเนินการ เป็นแปลงรับรอง GAP รูปแบบใหม่แล้ว 80,779 แปลง คิดเป็นร้อยละ 41.76 และมีแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม นี้ ทั้งนี้ สวพ.6 ได้ออกให้บริการ จีเอพี เคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นมา มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 3,663 ราย

        นอกจากนี้ สวพ.6 ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในสวนลำไยอย่างเคร่งครัด โดยได้จัดทำแผ่นพับให้ความรู้เกษตรกร “เกษตรกรไทยสู้ภัยโควิด” แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ “มาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกษตรกรต้องปฏิบัติ D-M-H-T-T และจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและปนเปื้อนของเชื่อ โควิด-19 สำหรับเกษตรกร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติในการควบคุมสุขอนามัยและการติดเชื้อ ซึ่งสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) กำหนดสุ่มตรวจโรงคัดบรรจุและสวนผลไม้ของไทย ผ่านช่องทาง VDO Conference ทุกสัปดาห์ เพื่อตรวจสอบมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 และตรวจสอบมาตรการป้องกันศัตรูพืชในกระบวนการผลิต การส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน

         สำหรับการดำเนินงานตรวจสอบมาตรการป้องกันศัตรูพืชในกระบวนการผลิตลำไย ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่องตรวจพบศัตรูพืชติดไปกับผลลำไยสดที่ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สวพ.6จึงร่วมกับจังหวัดจันทบุรีจัดฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสวนลำไยให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอสอยดาว และอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 10 รุ่น มีเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรม กว่า 1,200 ราย เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเฉพาะศัตรูพืชกักกัน เพลี้ยแป้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถปลอดศัตรูพืชลำไยเพลี้ยแป้งที่ติดไปกับผลผลิตลำไยได้ และผอ.สวพ.6 ยังได้มอบหมายทีมเล็บเหยี่ยวซึ่งประกอบด้วยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีเป็นกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานในภารกิจตรวจสอบศัตรูร่วมกับด่านตรวจพืชจันทบุรี ในการสุ่มตรวจสอบเพลี้ยแป้งติดไปกับลำไยสด ก่อนส่งออกในทุกตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย