วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายการส่งออกผลไม้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2567” โดยมี นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมและการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร และนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวรายงานผลการดำเนินงานในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี
ด้วยภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นมหานครแห่งผลไม้ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รวมถึงสร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศเป็นจำนวนมาก
ซึ่งตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีการควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งผลผลิตตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมคุณภาพผลผลิตในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก โดยกรมวิชาการเกษตรมีภารกิจในการกำกับดูแลการตรวจติดตามโรงงานผลิตสินค้าพืช ให้ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และการรับรองสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขในพิธีสารส่งออกไปจีน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพมาจากสวน และมีการคัดบรรจุตามมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก ตลอดจนป้องกันปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด มีการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีน ตั้งแต่ในระดับ สวน โรงคัดบรรจุ การส่งออก การขนส่ง การตลาด การแปรรูป และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตามแผนปฏิบัติการ (Action plan) เชื่อมโยงกับ “จันทบุรีโมเดล” โดยมีการผนึกกำลังทุกหน่วยงานบูรณาการภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และให้กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ตรวจสอบทุเรียนในโรงคัดบรรจุก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปตลาดต่างประเทศ รวมทั้งให้ปรับปรุงการตรวจสอบมาตรฐาน GAP และ GMP พร้อมกับแจ้งให้ทางการจีนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออก สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งสิ้น 2,308 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 999 โรง ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี 890 โรง ซึ่งแจ้งคัดบรรจุทุเรียน 758 โรง คัดบรรจุมังคุด 272โรง และคัดบรรจุลำไย 114 โรง เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก (PC) และขั้นตอนการส่งออกผลไม้ตามข้อตกลงพิธีสารการส่งออกผลไม้สดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ.9047-2560 ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ การใช้สารเคมีชุบทุเรียนในโรงคัดบรรจุ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินระยะไกล มาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ มาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียนและช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก (ทุเรียนและมังคุด) ในพื้นที่ภาคตะวันออก และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 400 คน
ทั้งนี้ ภายหลังจากเปิดการประชุม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนและการตรวจสอบศัตรูพืชเพื่อการส่งออก โดย กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และ หน่วยรับรองภาคเอกชนที่ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน บริเวณด้านหน้าห้องประชุม จากนั้นร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์การส่งออกผลไม้ I โรงคัดบรรจุพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยเดินทางไปยังโรงคัดบรรจุ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวรายงานและให้การต้อนรับคณะฯ พร้อมรายงานผลการดำเนินการบริหารจัดการผลไม้ของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด และการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้สหกรณ์ขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสหกรณ์การเกษตร ได้พาคณะฯ เยี่ยมชมกระบวนการคัดบรรจุทุเรียนของสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอกระบวนการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนก่อนการส่งออกและการสาธิตการวัดความแก่ทุเรียน โดยวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และด่านตรวจพืชจันทบุรี ได้นำเสนอการตรวจสอบศัตรูพืช ขั้นตอน เงื่อนไขการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช การส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน ต่อจากนั้น รมว.กระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางต่อไปยังโรงคัดบรรจุ บริษัท ริชฟิลด์ เฟรช ฟรุท จำกัด ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อพบปะผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและผู้ส่งออก โดยมีนายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ให้การต้อนรับและนำชมกระบวนการคัดบรรจุทุเรียนเพื่อการส่งออก การตรวจสอบคุณภาพ การตรวจสอบศัตรูพืช รวมทั้ง รมว.กษ. ยังได้ตรวจสอบขั้นตอนและเงื่อนไขการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และทำการปิดตู้ล็อคซีลตู้ส่งออกทุเรียนของโรงคัดบรรจุด้วย
เพื่อเป็นการเน้นย้ำในคุณภาพและมาตรฐานกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรในโรงคัดบรรจุ โดยการกำกับดูแลผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของผลไม้
ที่ส่งไปขายยังต่างประเทศ หากไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ ดังนั้น การบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการและเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนจากองค์กรเกษตรกร สมาคมผู้ส่งออกและความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ จะทำให้การส่งออกผลไม้ของไทยเป็นไปอย่างราบรื่น ผลไม้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปราศจากศัตรูพืชและสารพิษตกค้าง ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป.