วันที่ 10 สิงหาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวนกล่าวรายงาน และนางสาวเสาวนี เขตสกุล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กล่าวแนะนำศูนย์ฯ ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืชเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันตัวโครงการฯ ได้อยู่ในระยะจัดทำข้อมูล baseline ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกย้อนหลัง 3 ปี ในแปลงดำเนินงานตามกรอบ T-VER ของ อบก. เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป
กรมวิชาการเกษตร ได้ทำ MOU กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ เปิดตัวโครงการคาร์บอนเครดิต ในงาน DOA Green Together ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยได้สร้างแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร 2 แนวทาง ประกอบด้วย
1. การจัดทำต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช โดยมีแนวทางการดำเนินงานในพืชเป้าหมายที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล (ทุเรียน และมะม่วง) ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
2. การพัฒนากรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กรมวิชาการเกษตรสามารถเป็นหน่วยงานในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ และการเกษตร ภายใต้หน่วยงานใหม่ คือกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร
ในการนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการคาร์บอนเครดิตในแปลงมะม่วง ซึ่งศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้เป็นส่วนร่วมของพื้นที่ดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว และมีการจัดทำข้อมูล baseline การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีค่าการปลดปล่อยเฉลี่ยประมาณ 0.30 tCO2eq/ไร่/ปี ซึ่งหลังจากนี้จะมีการดำเนินการตามกรอบ T-VER ของ อบก. เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการสรุปความก้าวหน้า Baseline ของพืชที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวข้างต้นบางพืชได้มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกัน พัฒนา National baseline ในพื้นที่แปลงเกษตรกรจากแหล่งผลิตสำคัญในการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร ถือเป็นครั้งแรกในจัดทำมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ที่นอกจากจะก่อให้เกิดรายได้จากการขายคาร์บอนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางเกษตรของไทย จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม เพื่อรองรับข้อกีดกันทางการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และ กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำคู่มือประชาชน เพื่อให้ผู้สนใจได้รับรู้แนวทาง หรือหลักการในการสร้างรายได้จากการผลิตพืชด้วย
ในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 นี้กรมฯ มีการจัดงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และ การก้าวไปในทศวรรษที่ 6” ณ ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสรุปผลงานเด่นที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของ พันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมใหม่ๆ ยังมีการนำเสนอผลงานจากการดำเนินงานคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช และคู่มือภาคประชาชน เพื่อให้ผู้สนใจได้รับรู้แนวทางหรือหลักการในการสร้างรายได้จากการผลิตพืช ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีการเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย นักวิชาการอิสระ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวมถึงผู้แทนจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านนโยบาย และ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกทางการเงินและเทคโนโลยี เช่น บ.เวฟ บีซีจี จำกัด ที่จะมาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อหาทิศทางและโอกาสในอนาคตของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงตลาดปลายทาง
ทั้งนี้จะส่งต่อการเสวนาต่อเนื่องไปในงานประชุมวิชาการประจำปีของกรมวิชาการเกษตร ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 สำหรับเติมเต็มประเด็นต่างๆ ให้ครอบคลุม เพื่อที่กรมวิชาการเกษตรสามารถกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช อย่างเต็มประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการจนถึงเกษตรกรรายย่อยต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *