แนวทางการดำเนินงานของศูนย์

1. หลักการและเหตุผล

ศูนย์ราชการสะดวกกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยให้บริการประชาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 และให้บริการงานของคู่มือสำหรับประชาชนตาม พ.ร.บ. พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยการนำงานบริการที่หลากหลายทั้งที่มีและไม่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันจากหลายหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตรมาไว้ ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับบริการ คือประชาชน หรือหน่วยงานภาคเอกชนที่มารับบริการจากส่วนราชการ รวมถึงผู้มารับบริการที่มาจากส่วนราชการอื่น สามารถขอรับบริการได้หลายเรื่องในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสอบถาม การขอข้อมูล การขอรับเอกสารเผยแพร่ โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ฯ เพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการตั้งศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center : GECC) ของนายกรัฐมนตรี

หลักการในการบริการศูนย์ราชการสะดวก มีดังนี้
1) ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centered) สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการในการดำเนินงานทุกขั้นตอน
2) เป็นศูนย์กลางการประสานข้อมูลข่าวสารและงานบริการ โดยการบูรณาการงานบริการ (Service Integration)
3) มุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Result-Oriented) โดยการพัฒนาระบบการบริการให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงาน

2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540
2) เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน ในการขอรับบริการต่าง ๆ จากกรมวิชาการเกษตร
3) เพื่อเป็นจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์

3. เป้าหมาย

ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของกรมวิชาการเกษตร

4. สถานที่ตั้ง

ตึกอารักขาข้าว ชั้นล่าง

5. กรอบการดำเนินงานศูนย์ฯ

ลักษณะการให้บริการมี 3 ลักษณะ คือ

1) การให้บริการข้อมูลข่าวสาร ได้แก่

  • บริการข้อมูลข่าวสารเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการก่อนเข้าสู่บริการอื่นของกรมวิชาการเกษตร
  • ให้ข้อมูลงานบริการและแบบฟอร์มของข้อมูลการให้บริการ
  • ให้บริการเอกสารเผยแพร่และคู่มือสำหรับประชาชน (ตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558)

2) การให้บริการงานตามคู่มือสำหรับประชาชน และงานบริการแบบเบ็ดเสร็จ เฉพาะงานของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรในกระบวนงานบริการเกี่ยวกับปุ๋ย พันธุ์พืช วัตถุอันตราย และกักกันพืช

3) การให้บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และมีการจัดชุดเฉพาะกิจลงไปในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

6.1 ประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ

  • เป็นจุดเดียวที่ประชาชนสามารถติดต่อสอบถาม และให้บริการด้านวิชาการเกษตร
  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตร โดยนำมารวมไว้ที่ศูนย์ฯ ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปตามหน่วยงานย่อย
  • สามารถติดตามความคืบหน้าในการขอรับบริการได้ทั้งที่ศูนย์ฯ และหน่วยงานเจ้าของเรื่อง
  • มีขั้นตอนการให้บริการที่ชัดเจน สะดวก

6.2 ประโยชน์ต่อกรมวิชาการเกษตร

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาชนในการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว
  • เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการด้านวิชาการเกษตรที่มีคุณภาพ

7. ตัวชี้วัดความสำเร็จผู้รับบริการมีความพึงพอใจไม่น้อยกว่าร้อยละ 80